แล้ง1.6ล้านไร่ ทุบส่งออกข้าววูบ

09 ม.ค. 2563 | 14:40 น.
2.5 k

ภัยแล้งลามพืชผลเกษตรเสียหายแล้วกว่า 1.6 ล้านไร่ 15 จังหวัดขั้นวิกฤติ ข้าวหวั่นผลผลิตไม่ถึง 28 ล้านตัน ดันราคาขยับ ทุบส่งออกไม่ถึง 7 ล้านตัน ยางมองตาปริบ ผลผลิตวูบ ลุ้น 60 บาทต่อกก. ปาล์มใกล้แตะ 7 บาท

 

 

สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ระบุสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 จะยาวนานถึงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งความรุนแรงจะเทียบเท่าปี 2558 หากไม่มีการวางแผนที่ดีอาจกระทบต่อนํ้าเพื่ออุปโภคบริโภคที่อาจขาดแคลน เวลานี้สถานการณ์นํ้าในเขื่อนใหญ่ กลาง เล็ก ทั่วประเทศเริ่มเข้าขั้นวิกฤติ

ข้าวเสียหาย 6.9 แสนไร่

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร วันที่ 7 มกราคม 2563 ผลกระทบด้านการเกษตรจากภัยแล้ง ช่วงภัยเดือนกันยายน 2562 ถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ม.ค. 63) มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 15 จังหวัด ใน 76 อำเภอ 454 ตำบล 3,861 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ได้แก่ เชียงราย, น่าน, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, นครพนม, มหาสารคาม, บึงกาฬ, หนองคาย, บุรีรัมย์, กาฬสินธุ์, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, สุโขทัย และชัยนาท และอยู่ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามประกาศเขตฯ 1 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี

ผลกระทบด้านการเกษตรในเบื้องต้นด้านพืช ประสบภัย 16 จังหวัด เกษตรกร 167,179 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 1,650,713 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 82,099 ราย พื้นที่เสียหาย 795,776 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 699,979 ไร่ พืชไร่ 95,325 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 473 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 889.31 ล้านบาท จ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 339 ราย พื้นที่ 3,150 ไร่ เป็นเงิน 3.51 ล้านบาท

 

จับตาข้าวราคาขยับ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า น่าห่วงผลผลิตข้าวนาปรังรอบแรกที่จะเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่ปกติจะมีผลผลิตประมาณ 5 ล้านตันข้าวเปลือกจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ต้องติดตามว่าผลผลิตจะลดลงเหลือเท่าใด หากผลผลิตมีน้อย ความต้องการของตลาดมีสูงจะทำให้ราคาข้าวเปลือกขยับขึ้นเป็นผลดีกับชาวนา แต่อีกด้านจะกระทบผู้ส่งออก เพราะต้นทุนข้าวสารส่งออกจะสูงขึ้น ผสมโรงกับเงินบาทแข็งค่ามาก ทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยราคาสูงกว่าคู่แข่งมากและแข่งขันยาก

“ปัจจุบันราคาข้าวส่งออกของไทย (เอฟโอบี) ข้าวขาว 5% โค้ดราคาที่ 425-430 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ของเวียดนาม 355-360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวอินเดียก็ใกล้เคียงกับเวียดนาม ราคาต่างจากข้าวไทย 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน คาดปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่น่าเกิน 7 ล้านตัน จากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 8 ล้านตัน”

นายสุเทพ คงมาก อดีตนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) กล่าวว่า ภัยแล้งกระทบผลผลิตข้าวของชาวนาแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 30-32 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี ปีนี้คาดผลผลิตจะกระทบภัยแล้งเหลือประมาณ 28 ล้านตัน ต้องติดตามว่าผลผลิตจะน้อยกว่านี้หรือไม่ ทั้งนี้มองว่าภัยแล้ง ผลผลิตน้อยอาจทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก จากปัจจุบันข้าวเปลือกเจ้า(ความชื้น 15%)อยู่ที่ 7,700 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 1.45 หมื่นบาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว 1.6-1.8 หมื่นบาทต่อตัน

“ที่น่าจับตามองคือข้าวเปลือกเหนียวมีโอกาสแตะ 2 หมื่นบาทต่อตัน จากผลผลิตมีน้อย และกระทบภัยแล้งไม่พอบริโภคในประเทศ ราคาข้าวสารเหนียวมีแนวโน้มแพงขึ้น”

 

ลุ้นยาง 60 บาทต่อกก.

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักด์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า จากภัยแล้งปีนี้ที่แล้งเร็ว และส่อแล้งนาน และช่วงนี้เป็นช่วงปิดกรีดยาง ซึ่งปิดกรีดแล้วในภาคเหนือ อีสาน และภาคตะวันออก ทำให้ผลผลิตออก สู่ตลาดน้อย ราคายางช่วงนี้ขยับขึ้น อาทิ ยางแผ่นดิบ ( 7 ม.ค.63) ณ ตลาดท้องถิ่นอยู่ที่ 39.10 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) นํ้ายางสด (ณ โรงงาน) 39.30 บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (ณ ตลาดกลาง จ.สงขลา) 42.29 บาทต่อกก.จากวันที่ 27 ธันวาคม 2562 วันสุดท้ายของการซื้อของปี 2562 ราคาเฉลี่ยที่ 38.40 , 35.70 และ 41.49 บาทต่อกก.ตามลำดับ

“เวลานี้ยางพาราขาดแคลนผู้ค้าแย่งซื้อส่งออก ถ้าแล้งมากของขาดเยอะ เปิดกรีดช้า ราคาอาจพุ่งไปถึง 60 บาทต่อกก. เพราะราคายางจะปรับขึ้นตามราคานํ้ามันที่เวลานี้ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แล้วจากผลกระทบสถานการณ์สหรัฐฯ-อิหร่าน”

 

ปาล์มใกล้แตะ7บาท

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มนํ้ามัน จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ราคาผลปาล์มนํ้ามันที่เกษตรกรขายได้ ณ ลานเท (7 ม.ค.63) เฉลี่ยที่ 5.80-6 บาทต่อ กก. และ ณ โรงสกัดฯเฉลี่ยที่ 6-6.80 บาทต่อ กก. จากช่วงหน้าแล้งผลผลิตมีน้อย(ต.ค.62-ม.ค.63) ผู้ค้าแย่งซื้อ เพื่อใช้ในการผลิตไบโอดีเซลหรือบี100 รวมถึงดีเซลบี 10 ที่เป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานที่จะให้บี10 มีจำหน่ายในทุกสถานีบริการนํ้ามันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งจะช่วยดูดซับนํ้ามันปาล์มดิบออกไปได้มาก ส่งผลดีเกษตรกรขายผลปาล์มได้ราคาสูง ทั้งนี้ช่วงผลผลิตปาล์มออกมามาก (ก.พ.-พ.ค.) ราคาอาจลดลง แต่คาดการณ์ว่าจะยังได้ราคาที่ดีจากนโยบายบี 10 ของรัฐบาล

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563