ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

13 ธ.ค. 2562 | 13:50 น.
1.2 k

เกษตรกรเฮ! รัฐเตรียมจำนำยุ้งฉางเกลือ คัดสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 3 เกรด ตั้งแต่กิโลละ 1.30-1.80 บาท หวังพ้นบ่วงพ่อค้ากดราคาต่ำ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดรับ 7 จังหวัดปรับปรุงทะเบียนใหม่ รองรับรัฐเร่งมาตรการช่วยเหลือในอนาคต

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

นายเลอพงษ์ จั่นทอง ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการสินเชื่อจำนำยุ้งฉางเกลือ ซึ่งราคาจะเรีมต้นตั้งแต่เกลือเกรด 1 ราคา 1.80 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) คิดคำนวณปริมาณ 25% จากเกลือที่จะเข้าร่วมโครงการ เกรดราคากลาง กก.ละ 1.60 บาท จำนวนเกลือประมาณกว่า 60% ที่จะเข้าร่วมโครงการ ส่วนปริมาณที่เหลือเป็นเกลือดำ กิโลกรัมละ 1.30 บาท

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

"ปัจจุบันมีบางสหกรณ์รับเกลือไว้แล้ว ใช้เงินของสหกรณ์เอง แต่บางสหกรณ์ที่จะต้องหาเงินมารับจำนำ เพราะฐานะสหกรณ์ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีวัตถุประสงค์ตรงกันคือ ต้องการพ้นบ่วงพ่อค้าคนกลาง”

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

 

นายเลอพงษ์ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรอาชีพนาเกลือมาโดยตลาด เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะมีโครงการดังกล่าวเพื่อพยุงราคา เป็นความสำเร็จมาจากปีที่แล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากที่เกษตรกรชาวนาเกลือประสบปัญหา ทั้งจากภัยธรรมชาติและการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกรรมการพัฒนานาเกลือมีแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเกลือทะเลไทยให้มีความเหมาะสมชัดเจน ครอบคลุม และสอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานในปัจจุบัน และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงขอให้เกษตรกรชาวนาเกลือมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2562/63 ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อรับสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร การทำนาเกลือสมุทรได้หลังจากวันที่ปล่อยน้ำเข้าแปลงแล้ว 1 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะตรวจสอบพื้นที่ตามที่เกษตรกรได้แจ้งไว้ภายในไม่เกิน 60 วัน ต่อไป

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

ทั้งนี้การทำนาเกลือได้รับการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า อาชีพทำเกลือทะเลเป็นอาชีพเกษตรกรรมในปี 2561 จากนั้นจึงจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เพื่อจัดทำมาตรฐานเกลือทะเล ร่างพระราชบัญญัติเกลือทะเล จัดตั้งสถาบันเกลือทะเล และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาเกลือตามยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย พ.ศ. 2560-2564

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

สำหรับการทำนาเกลือมี 7 จังหวัด คือ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี มีพื้นที่มากกว่า 60,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 900,000 ตันต่อปี ชาวนาเกลือร้องเรียนปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำตั้งแต่ปี 2557  ต้นทุนเกวียนละ 1,600 บาท(1 เกวียนเท่ากับ 1,600 กิโลกรัม) แต่ขายได้เกวียนละ 700 บาท ทำให้ขาดทุนเรื่อยมา จนเกิดปัญหาหนี้สินสะสมรวมกันมากกว่า 517 ล้านบาท อีกทั้งผลผลิตเกลือธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและมาตรฐานอาหารที่กำหนดว่าเกลือบริโภคต้องเติมสารไอโอดีน

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกลือทะเล โดยปรับระบบการผลิตเกลือทะเลให้มีต้นทุนต่ำเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และมีช่องทางการตลาดมากขึ้น ล่าสุดมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้วิจัยนำเกลือมาสร้างนวัตกรรมผลผลิตใหม่ ๆ ได้แก่ การพัฒนาดอกเกลือทะเลแห้ง สูตรปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพด้วยขี้แดดนาเกลือในระบบปลูกพืชไฮโดรโพรนิกส์ สูตรปุ๋ยขี้แดดนาเกลือ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตของผลไม้และไม้ตัดดอก เป็นต้น และเตรียมจัดตั้งสถาบันเกลือทะเลไทย เพื่อยกมาตรฐานการผลิตเกลือทะเลให้มีการผลิตแบบอุตสาหกรรม

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

ชาวนาเกลือประสบปัญหาหนี้สินเนื่องจากราคาตกต่ำและรายได้ไม่เพียงพอซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ สนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรวงเงิน 52.5 ล้านบาท อีกทั้งมีสหกรณ์การเกษตร 4 แห่งร่วมโครงการ ได้แก่ สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสาคร สหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสงคราม และกลุ่มเกษตรกรนาเกลือบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี รับประกันราคาเกลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของราคาตลาด โดยสามารถเก็บเกลือไว้ที่ยุ้งฉางของสหกรณ์หรือของเกษตรกร เป้าหมายเฉลี่ยเกวียนละ 2,500 บาท 

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

ควบคู่กับรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่และสำรวจความต้องการใช้เกลือตามนโยบายตลาดนำการผลิต พบว่า ปริมาณการใช้เกลือในประเทศมีประมาณปีละ 900,000 ตัน โดยใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป (รวมเพื่อการส่งออก) 450,000 ตันต่อปี  อุตสาหกรรมผลิตน้ำปลา 430,000 ตันต่อปี อุตสาหกรรมผลิตซอสปรุงรสและผักผลไม้ดองในน้ำเกลือ รวมถึงอาหารทะเลในน้ำเกลือ 20,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เกลือสินเธาว์ที่ผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมและมาตรฐานอาหาร

ดันมาตรการจำนำเกลือพยุงราคา

ดังนั้นจึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการด้านการตลาดนำการผลิตเกลือทะเลเพื่อแก้ปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำ ช่วยเหลือให้ชาวนาเกลือให้มีรายได้เพิ่มขึ้นพ้นภาวะหนี้สินและทำนาเกลือทะเลเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ