“นิพนธ์” ปอกเปลือกวิกฤติข้าวหอมมะลิตกต่ำ “โรงสี-แบงค์” กอดคอเจ๊งระนาวจากปีที่แล้ว ลามกระทบชาวนาเก็บเกี่ยวต้นฤดูได้ราคาต่ำเกินจริง ชงรัฐเร่งคลอดสินเชื่อจำนำพยุงราคา คาดการณ์ 1 เดือนข้างหน้า เผยราคาข้าวขยับแน่ พลิกวิกฤติเป็นโอกาสฟันกำไรชัวร์
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยกับ ฐานเศรษฐกิจ” โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี หรือ “จำนำยุ้งฉาง” จำเป็นต้องมี เพราะสถานการณ์ราคาข้าวหอมมะลิในปีนี้มีวิกฤติตกต่ำมาก ราคาเกษตรกรที่ได้ควรจะสูงกว่านี้ เนื่องจากมีพ่อค้า/โรงสีหลายโรงมีปัญหาเรื่องสินเชื่อ เพราะธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ แม้กระทั่งโรงใหญ่ก็ไม่ได้ จึงทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับตอนต้นฤดูต่ำเกินความเป็นจริง อีกด้านหนึ่งธนาคารก็ขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อ
“ผลสืบเนื่องจากการพยากรณ์หรือเก็งกำไรผิดพลาด ราคาตกต่ำ เจ๊งกันเป็นทิวแถว จึงส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในวันนี้ ทำให้คนไม่กล้าซื้อ ปีนี้จึงทำให้ไม่มีใครกล้าขายล่วงหน้าไปต่างประเทศ จึงทำให้เกิดปัญหา แม้ว่าจะมีโครงการประกันรายได้ข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% (แห้ง) ราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน (เมื่อทอนราคาเป็นข้าวเกี่ยวสด ชาวนาจะต้องขายข้าวไม่ต่ำกว่า 1.25 หมื่นบาท/ตัน) ขณะที่ราคาข้าวสด ณ วันที่ 18 พ.ย. 62 ชาวนาเกี่ยวขายเฉลี่ยตันละ 1 หมื่นบาทเศษ เรียกว่าหากชาวนาขายข้าวในช่วงนี้แทบไม่ได้อะไรเลย รัฐก็ต้องจ่ายชดเชย เล็กน้อยไม่มาก แต่ชาวนาจะเสียประโยชน์มาก”
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ผมคาดการณ์ว่าในอีก 1 เดือนข้างหน้าราคาข้าวจะขยับสูงขึ้น เกษตรกรจะได้ประโยชน์ดีกว่าพ่อค้าได้ประโยชน์ ดังนั้นควรจะชะลอเอาไว้เพื่อเกษตรกร ดังนั้นโครงการจำนำยุ้งฉาง ควรจะมี แนะนำว่า “สินเชื่อ” และ”ค่าเก็บเกี่ยว” ไม่ควรจะให้มากเหมือนปีที่แล้ว เพราะมีโครงการประกันรายได้ค้ำอยู่ ดังนั้นหากราคาสูงกว่าตลาดไม่เป็นไร!