อาหารเสริมปนเปื้อนระบาด ผิดทั้งฉลากโฆษณาเว่อร์

20 พ.ย. 2562 | 15:00 น.
2.1 k

อย.เผยสถิติตัวเลขผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ทำผิดกฎหมาย มีทั้งผิด GMP ฉลาก อาหารปลอมปนเปื้อน รวมถึงโฆษณาเกินจริงทางเว็บไซต์เพียบ ด้านผู้ผลิตอาหารเสริม ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย เข้มงวดเรื่องมาตรฐานการผลิต

 

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์อาหาร ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอางมีการกระทำผิดตามที่กฎหมายระบุจำนวนมาก ทำให้อย.ต้องลงมาตรวจสอบต่อเนื่อง โดยสถิติการกระทำผิดในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม พบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561- ตุลาคม 2562 มีการกระทำผิดแล้ว 25 ราย ที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ประกอบไปด้วย

 

การกระทำผิดตามมาตรา 6 (7) กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร จำนวน 3 ราย ซึ่งมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท การกระทำผิดตามมาตรา 6 (10) กำหนดประเภทและชนิดอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือที่จำหน่าย จะต้องมีฉลาก ข้อความในฉลาก เงื่อนไข และวิธีการแสดงฉลาก ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการโฆษณาในฉลาก 14 ราย มีบทลงโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

อาหารเสริมปนเปื้อนระบาด ผิดทั้งฉลากโฆษณาเว่อร์

การกระทำผิดตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ จำนวน 2 ราย มีบทลงโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ(2) อาหารปลอม จำนวน 3 ราย ซึ่งมีบทลงโทษปรับตั้งแต่ 5,000-1 แสนบาท จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (3) อาหารผิดมาตรฐาน จำนวน 3 ราย ซึ่งมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 อีก 2 ราย ซึ่งมีบทลงโทษทั้งปรับและจำคุก

อาหารเสริมปนเปื้อนระบาด ผิดทั้งฉลากโฆษณาเว่อร์

 

นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาเกินจริงบนเว็บไซต์จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบว่า เลขของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตในชื่ออื่น เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม และเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต อย. จึงดำเนินการระงับโฆษณา พร้อมแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อมาบริโภค เพราะจะได้รับอันตราย อาทิ การโฆษณาผลิตภัณฑ์นํ้าหนานเฉาเหว่ยโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น นํ้าหนานเฉาเหว่ย สรรพคุณ ช่วยลดเบาหวาน ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมนํ้าในท้อง ช่วยเรื่องเก๊าท์ ไขมันสูง นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “เอ็นเอ็น ลิควิด คลอโรฟิลล์” ที่เลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตข้อมูลไม่ตรงกัน เข้าข่ายเป็นอาหารปลอม และมีการโฆษณาคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ เป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522

 

รวมถึงการโฆษณาลวงเรื่องของการรักษาข้อต่อ ของผลิตภัณฑ์ Pantoflex และ Collax Activ ซึ่งตรวจพบว่า Pantoflex ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ส่วน Collax Activ มีการจดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประเภทบำรุงผิวกาย และมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ถือว่ามีความผิดมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

อชิรกฤษฎ์ วาเสฏฐิรังสี

 

 

ด้านนายอชิรกฤษฎ์ วาเสฏฐิรังสี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ไลฟ์ พลัส จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้เก็บตัวอย่างอาหารเสริมของบริษัทไปตรวจ 3 รายการ ได้แก่ “ยูกิ, เจนซ่า พลัส, อมาริต้า สลิม เคิฟ” ว่า มีสารอันตรายส่งผลต่อจิต ประสาท และร่างกาย ที่ผ่านมานั้น ทางบริษัท ได้มีหนังสือชี้แจงมายังเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เกี่ยวกับผลการตรวจพิสูจน์อาหารทั้ง 3 รายการแล้ว เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

เนื่องจากบริษัทเป็นผู้รับจ้างผลิต และปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเกิดขึ้นในท้องตลาดจำนวนมาก และเกิดการแข่งขันที่รุนแรง โดยบริษัทมุ่งเน้นแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องมาตรฐานการผลิต และความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค และต้องผ่านมาตรฐานการผลิตขั้นตํ่าตามข้อกำหนดของภาครัฐ เช่น GMP, HACCP, HALAL เป็นต้น มีการเข้มงวดทุกขั้นตอนการผลิต 

 

รวมทั้งสร้างความแตกต่างในตัวสินค้า มีการนำเสนอสูตรผลิตภัณฑ์ ส่วนผสม คุณลักษณะเฉพาะขึ้นมา เพื่อเกิดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใหม่ๆ ต่อผู้ว่าจ้างเพิ่มขึ้น โดยทางบริษัทได้จัดทำการวิจัยและพัฒนา ทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัยต่อไป

 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3523 ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2562