เร่งสรุปFTAไทย-อียู หวั่นช้าเวียดนามแซงหน้า

22 ต.ค. 2562 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2562 | 19:49 น.
926

พาณิชย์เดินสายรับฟังความเห็นเอฟทีเอไทย-อียู ที่เชียงใหม่ เสียงเชียร์ลั่น เร่งให้บรรลุข้อตกลง ชี้หากช้ายิ่งเสียเปรียบเวียดนาม-สิงคโปร์ ขณะเตรียมลงพื้นที่อีก 2 ครั้งที่สงขลาและขอนแก่น ปลายตุลาคมนี้ ก่อนสรุปให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์รับทราบและเสนอเข้าครม.ต่อไป

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ดำเนินการจัดสัมมนาโอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ไทย-สหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งกรมได้ดำเนินการจัดสัมมนาตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมโดยเชิญผู้มีส่วนได้เสีย 4 กลุ่มมาให้ความเห็น ประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภค องค์กรภาคประชาชนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ครั้ง 

ล่าสุดกรมได้เปิดรับฟังความในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก เพราะปัจุบันไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความไม่แน่นอนในสถานการณ์การแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษ(เบร็กซิท)  แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของไทยแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยไทยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 70% ของจีดีพี

เร่งสรุปFTAไทย-อียู หวั่นช้าเวียดนามแซงหน้า

รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าทั้งการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาที่ไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน และสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งนี้ การเจรจาจัดทำเอฟทีถือเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว และรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายผลักดันการเจรจาในกรอบต่าง ๆ เช่น RCEP FTA ไทย-ศรีลังกา ไทย-ปากีสถาน ไทย-ตุรกี รวมถึงการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP และการฟื้นการเจรจา FTA กับอียู 

 

“การฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับอียูถือเป็นภารกิจสำคัญ และเนื่องจากอียูเป็นแหล่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ประโยชน์ที่ไทยคาดหวังจะได้รับจากความตกลงฉบับนี้ นอกเหนือจากการผลักดันให้อียูลดหรือยกเลิกมาตรการอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ระหว่างกันให้มากที่สุด คือโอกาสในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างงาน สร้างรายได้ และโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมของไทย” 

เร่งสรุปFTAไทย-อียู หวั่นช้าเวียดนามแซงหน้า

 อย่างไรก็ดี ความตกลงเอฟทีเอของอียูกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ มีมาตรฐานในระดับสูง ทั้งด้านการเปิดตลาด และกฎระเบียบการค้า รวมถึงมีกรอบกว้างขวางครอบคลุมประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การยกระดับความคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและแรงงาน และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น การสร้างความตระหนักรู้เรื่องโอกาสและความท้าทายจากการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การเตรียมการฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู เป็นไปด้วยความรอบคอบบนฐานข้อมูลที่รอบด้าน

 

ไทยและอียูได้เริ่มเจรจาจัดทำเอฟทีเอเมื่อปี 2556 มีการประชุมรวม 4 รอบ ก่อนที่อียูจะมีมติชะลอการเจรจากับไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย และในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมาอียูมีท่าทีที่ชัดเจนว่าการฟื้นเจรจาเต็มรูปแบบกับไทยจะเกิดภายหลังไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นหลังการเลือกตั้งในไทยเมื่อมีนาคม 2562 และการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 จึงมีความเป็นไปได้ที่ไทยและอียูจะกลับมาฟื้นการเจรจาอีกครั้ง

เร่งสรุปFTAไทย-อียู หวั่นช้าเวียดนามแซงหน้า

ขณะที่อียูเองมีการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและคาดว่าจะมีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง(คณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่) เข้ารับตำแหน่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือนธันวาคม 2562 ไทยและสหภาพยุโรปจึงยังจำเป็นต้องหารือเกี่ยวกับกระบวนการและช่วงเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะมีการฟื้นการเจรจาดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้หากจัดรับฟังความเห็นครบ 5 ครั้ง กรมจะสรุปเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รับทราบก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

 

ทั้งนี้กรมได้จ้างสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป มีกำหนดระยะเวลาโครงการ 5 เดือน (กรกฎาคม-พฤศจิกายน 2562) ครอบคลุมการประเมินผลเชิงเศรษฐมิติ การจัดประชุมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และการสำรวจความเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ กรมฯ มีกำหนดจัดสัมมนาในส่วนภูมิภาค 4 ครั้ง ครั้งแรก ภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่(วันที่ 22 ต.ค.62) ครั้งที่ 3 ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 และ ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562

 โดยจากการรับฟังความเห็น2ครั้งแรกพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากเห็นการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูโดยเร็ว เพราะต้องการโอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น หากไทยไม่ทำเอฟทีเอกับอียูไทยอาจจะเสียโอกาสทางการค้าและโอกาสในการเป็นฐานการผลิต การกระจายสินค้า และการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว (เวียดนามและสิงคโปร์)

 

เร่งสรุปFTAไทย-อียู หวั่นช้าเวียดนามแซงหน้า

ขณะที่มีผู้ประกอบการบางส่วน และภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตและมีข้อกังวลในส่วนที่ไทยอาจจะต้องเปิดตลาดหรือปรับกฏระเบียบที่จะกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และระบบสุขภาพ รวมทั้งประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ให้ข้อเสนอ ให้มีการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งประเด็นนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอระดับนโยบายพิจารณาต่อไป เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบให้การขอใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตร และการผลิต ของผู้ขอได้จริงในระยะยาว

 

ทั้งนี้สหภาพยุโรปเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตและมีกำลังซื้อสูง และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในประชาคมโลก โดยในปี 2561 สหภาพยุโรปมีประชากรรวมกว่า 500 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 18.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นคู่ค้าลำดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา และนักลงทุนอันดับ 4 ของไทย ในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็น 9.4 %ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัว 6.5 % จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้น 5.1 %และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.1 %

เร่งสรุปFTAไทย-อียู หวั่นช้าเวียดนามแซงหน้า

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านนายภูมิพัฒน์  รัตพงษ์บวร อุปนายกสมาคมการค้าบิสคลับไทย จังหวัดลำปาง กล่าวว่าเอฟทีเอไทย-อียูจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่เป็นกลุ่มผู้ประกอกการขนาดย่อยได้พัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ในอนาคตซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบเวียดนามที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว ดังนั้นการที่ไทยเดินหน้าผลักดันให้เกิดการเจรจาการค้ากับอียูจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ