โชว์บิซเซ่นพิษเศรษฐกิจ ‘คอนเสิร์ต-วาไรตี’หงอย

08 ต.ค. 2562 | 17:03 น.
2.9 k

 

โชว์บิซ!ไม่ปัง เจอพิษเศรษฐกิจถดถอย คนดูหั่นงบ ยอดจองตั๋วเหลือเพียบ ผู้จัดปรับแผนลดสเกล หลังต้นทุนเพิ่ม 25% จากค่าตัวศิลปิน-ลิขสิทธิ์

ในแต่ละปีธุรกิจโชว์บิซ หรือการจัดงานแสดงในหลากรูปแบบไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต วาไรตีโชว์ มิวสิก เฟสติวัล ฯลฯ มีจำนวนมากกว่า 300 งาน แต่สำหรับปีนี้แม้ย่างเข้าสู่ ไตรมาส 4 โค้งท้ายของปีและเป็นไฮซีซันของธุรกิจโชว์บิซ บรรยากาศโดยรวมควรจะคึกคัก จากการเปิดให้จองบัตรจากผู้จัดทั้งในและต่างประเทศ แต่กลับพบว่า ยอดจองบัตรคอนเสิร์ต โชว์ต่างๆ ที่ Sold Out มีเพียงไม่กี่งาน เช่น Potato , D2B , Ruel Free Time World Tour Live in Bangkok, Harry Potter and the Philosopher’s Stone™ In Concert ฯลฯ ขณะที่กว่า 50% ยังต้องลุ้นว่าจะมีผู้เข้าชมมากน้อยเพียงใด 

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการสำรวจและเก็บข้อมูลธุรกิจโชว์บิซในเมืองไทยพบว่า ในปี 2561 มีจำนวน 340 งาน ส่วนในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคมมีการจัดงานรวม 294 งาน ขณะที่สเกลการจัดงานเฟสติวัลปีนี้เทียบกับปีก่อนพบว่างานที่มีสเกล ระดับ L ที่มีผู้เข้าชมจำนวน 1 -3 หมื่นคนลดลง จากเดิมเคยมีสัดส่วนในตลาดเฟสติวัล 26% เหลือเพียง 12% ส่วนสเกล ระดับ M มีผู้เข้าชมจำนวน 5,000 -10,000 คน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 29% จากเดิม 15%

โชว์บิซเซ่นพิษเศรษฐกิจ  ‘คอนเสิร์ต-วาไรตี’หงอย

                                    ภาวิต จิตรกร

เช่นเดียวกับงานคอนเสิร์ต ซึ่งในปีก่อนงานสเกล ระดับ L มีสัดส่วน 17% แต่ปีนี้ลดลงเหลือ 11% ส่วนสเกล ระดับ M มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 29% จากเดิม 13% ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงผู้จัดงานที่เคยจัดงานสเกลระดับ L ลดความเสี่ยงหันมาจัดงานสเกลเล็กลง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านสภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนเลือกซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลที่สำคัญ เนื่องจากเงินในกระเป๋ามีจำนวนจำกัด

 

 

“เชื่อว่าการมี Branding และกลุ่ม Community ของตัวเองที่ชัดเจนจะทำให้ธุรกิจเฟสติวัลประสบความสำเร็จ ขณะที่ธุรกิจคอนเสิร์ตต้องดูศิลปิน และจำนวนเพลงที่ฮิต จึงจะสามารถวัดได้ว่าการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งควรเลือก Scale แบบใดที่เหมาะสม ด้านภาพรวมในช่วงปลายปี มองว่ากำลังซื้ออยู่ในช่วงถดถอย ประกอบกับคนใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับความบันเทิงอื่นๆ เช่น คอนเสิร์ต อี-คอมเมิร์ซ หรือการท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันคนมีทางเลือกในการเสพความบันเทิงต่างๆ มากกว่าแค่โชว์บิซ ดังนั้นภาพรวมการจัดงานปีนี้น่าจะเติบโตลดลง”

โชว์บิซเซ่นพิษเศรษฐกิจ  ‘คอนเสิร์ต-วาไรตี’หงอย

ด้านนายจักรกฤษณ์ จันทร์รัชชกูล ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ CIO บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์ จำกัด ผู้จัดงาน “Season of love song” จ. ราชบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้จัดงานคอนเสิร์ตและมิวสิก เฟสติวัลหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่งานที่ประสบความสำเร็จแต่ละครั้งยังเป็นผู้จัดรายเดิมที่เคยอยู่ในตลาด ขณะที่ภาพรวมของโชว์บิซในปลายปีนี้น่าจะดีขึ้นหรือทรงตัว หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น รวมถึงคนต้องการพักผ่อนและเสพความบันเทิงส่วนตัวมากขึ้น

“ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากของผู้จัดรายใหม่ที่จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะการจัดงานมีต้นทุนสูงขึ้นกว่า 25% อาทิ ค่าตัวศิลปิน ลิขสิทธิ์ และการรักษาแบรนดิ้ง เป็นต้น อีกทั้งในปีนี้จะเห็นการจัดโชว์บิซในรูปแบบร่วมมือกันมากขึ้นเนื่องจากในยุคปัจจุบันเป็นการทำงานที่ต้องอาศัย ความร่วมมือระหว่างกัน” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3511 วันที่ 6-9 ตุลาคม 2562

โชว์บิซเซ่นพิษเศรษฐกิจ  ‘คอนเสิร์ต-วาไรตี’หงอย