พ่อค้ากดซื้อ ทุบราคายางดิ่ง รัฐแบกชดเชย

27 ก.ย. 2562 | 12:25 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2562 | 19:29 น.
4.8 k

พ่อค้ารวมหัวทุบราคายางดิ่ง โยนรัฐแบกชดเชยส่วนต่างประกันรายได้ ใต้-อีสานร้องระงม ยางก้อนถ้วยเหลือ 6 โล 100 บาท นักวิชาการห่วงสิ้นโครงการราคาวูบหนัก ขณะจีนขยายปลูกยางทั้งในยูนนาน-CLMV ลดนำเข้าจากไทยแน่

พ่อค้ากดซื้อ  ทุบราคายางดิ่ง  รัฐแบกชดเชย

ในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 นี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะที่ 1 (ต.ค.62-เม.ย.63) งบประมาณ 2.43 หมื่นล้านบาท โดยยางแผ่นดิบคุณภาพดีประกันรายได้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) นํ้ายางสด (DRC 100%) ที่ 57 บาทต่อกก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ที่ 23 บาทต่อกก. โดยจะจ่ายเงินส่วนต่างราคาตลาดกับราคาประกันเข้าบัญชีเกษตรกรผู้ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ในทุก 2 เดือน ซึ่งงวดแรกจะจ่ายในเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ดีผลพวงที่ตามมาเวลานี้ได้รับเสียงสะท้อนจากเกษตรกรว่าผู้ค้ายางเริ่มกดราคารับซื้อยาง เพื่อหวังฟันกำไร โดยผลักภาระในการชดเชยส่วนต่างราคาให้กับรัฐบาล

 

นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดศรีสะเกษ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคายางที่เกษตรกรขายได้ในเวลานี้ลดลงอย่างน่าแปลกใจ โดยยางก้อนถ้วยซึ่งเป็นชนิดยางที่เกษตรกรผลิตและจำหน่ายมากที่สุดในพื้นที่ ณ วันที่ 24 กันยายน 2562 ขายได้ที่ 16.50 บาทต่อกก.(หรือ 6 กก. 100 บาท) จากสัปดาห์ก่อนเฉลี่ยเกือบ 20 บาทต่อกก.

พ่อค้ากดซื้อ  ทุบราคายางดิ่ง  รัฐแบกชดเชย

“เวลานี้ฝนตกชุกในพื้นที่ทำให้กรีดยางได้น้อยลง บางพื้นที่กรีดยางไม่ได้จากนํ้าท่วม ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยราคายางน่าจะขยับขึ้น แต่ปรากฏปรับตัวลดลง ไม่รู้สาเหตุเพราะอะไรผู้ค้ายางที่มาประมูลรับซื้อในพื้นที่เพื่อส่งต่อให้บริษัทแปรรูปยางอีกต่อหนึ่งถึงกดราคา ส่วนตัวมองว่าบริษัทค้ายางกดราคามา เขาก็มากดราคาซื้ออีกต่อหนึ่ง ซึ่งบริษัทผู้ค้าหรือส่งออกยางมักอ้างว่ามีสต๊อกเยอะ จากส่งออกมีปัญหา”

พ่อค้ากดซื้อ  ทุบราคายางดิ่ง  รัฐแบกชดเชย

สอดคล้องกับนายประสาร จันทร เกษตรกรผู้ปลูกยางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เผยว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะขายนํ้ายางสดให้กับพ่อค้าคนกลาง ณ วันที่ 24 กันยายน 2562 ราคาเฉลี่ยเพียง 36 บาทต่อกก. (ราคา ณโรงงานอยู่ที่ 40 บาทต่อกก.) ซึ่งยังไม่คุ้มทุน เพราะเวลานี้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ราคาปุ๋ยใส่ต้นยางกระสอบละ 700-800 บาท ขณะที่ราคานํ้ายาง 36 บาทต่อกก. เจ้าของสวนต้องแบ่งรายได้ให้กับคนรับจ้างกรีดยาง 50 : 50 อยู่ลำบากเพราะราคานํ้ายางที่เกษตรกรอยู่ได้ต้อง 50 บาทต่อกก.ขึ้นไป

“เศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งมีรายได้หลักจากยางพาราไม่ดีเลย จากราคายางแย่มา 5 ปีแล้ว ส่วนราคาปาล์มก็ได้กว่า 2 บาทต่อกก. ไม่คุ้มทุนเช่นกัน ซึ่งการที่รัฐมาช่วยประกันรายได้ยางก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ห่วงหมดโครงการแล้วราคายางจะลดลงอีก”

พ่อค้ากดซื้อ  ทุบราคายางดิ่ง  รัฐแบกชดเชย

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ส่วนหนึ่งมีผลให้ผู้ค้ายางกดราคารับซื้อจากเกษตรกร เพราะราคายิ่งลดหรือราคาถูกลง ผู้ค้าก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น โดยผลักภาระการชดเชยส่วนต่างราคาไปให้รัฐบาล ซึ่งโครงการประกันรายได้นี้รัฐควรทำในช่วงสั้นๆ พ่วงกับดำเนินนโยบายหลายด้านควบคู่กันไป เช่น การส่งเสริมการลดต้นทุน การสนับสนุนปลูกพืชหรือทำอาชีพอื่นควบคู่กันไป การผลักดันการใช้ยางในประเทศเพิ่มอย่างจริงจัง การสนับสนุนเงินทุนและเทคโนโลยีในการแปรรูปยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มส่งออกให้มากขึ้น และต้องมีตลาดล่วงหน้า เป็นต้น

“ราคายางที่ปรับตัวลดลง รัฐต้องแบกรับภาระชดเชยส่วนต่างมาก และโครงการนี้จะจูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต เพิ่มซัพพลายยางในตลาดมากขึ้น หลังจากหมดระยะเวลาโครงการแล้ว ราคายางจะกลับมาตกตํ่าอีก เป็นปัญหาไม่รู้จบ”

หากไทยไม่รีบปรับตัวสร้างนิวบาลานซ์ใหม่โดยใช้ยางในประเทศและส่งออกให้สมดุลกัน (ปัจจุบันผลผลิตยางไทยส่งออก 80% และใช้ในประเทศ 20%) อนาคตอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งระบบจะลำบาก เพราะเวลานี้นอกจากไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียที่เป็นผู้ผลิตยางราย
ใหญ่แล้ว จีนก็มีการปลูกยางได้เองในมณฑลยูนนาน และยังมาเช่าพื้นที่ปลูกใน CLMV ขณะที่อินเดียก็เร่งขยายพื้นที่ปลูกในประเทศ ซึ่งผลผลิตจะทยอยออกมากขึ้นในทุกปีนับจากนี้ ดังนั้นตลาดจีน (สัดส่วนส่งออกไทยเกือบ 50%) รวมถึงตลาดอื่นๆ จะลดการนำเข้ายางพาราจากไทยลงแน่นอน

พ่อค้ากดซื้อ  ทุบราคายางดิ่ง  รัฐแบกชดเชย

ทั้งนี้ภาพสะท้อนชัดเจนจากตัวเลขส่งออกยางพาราของไทยช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 ไทยส่งออกยางพาราได้ที่ 2.19 ล้านตัน มูลค่า 9.20 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.7% และ 8.9% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกยางอันดับ 1 ของไทย (ช่วง 8 เดือนแรกคิดเป็นสัดส่วน 40%)มีมูลค่าส่งออก 3.62 หมื่นล้านบาท ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยวงการส่งออกยางระบุเป็นผลพวงหลักจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีนรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาง ทำให้จีนนำเข้ายางพาราจากไทยเพื่อไปแปรรูปเป็นล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯลดลง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562

พ่อค้ากดซื้อ  ทุบราคายางดิ่ง  รัฐแบกชดเชย