กสอ. อัดงบ 20 ล้านปี 63 ดันธุรกิจฟู้ดทรัคสร้างเงินหมุนเวียน 2 หมื่นล.

04 ก.ย. 2562 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2562 | 18:45 น.
1.3 k

กสอ.วงกรอบงบประมาณ 20 ล้านบาทปีงบประมาณ 63 พัฒนาธุรกิจฟู้ดทรัค  รวมถึงขยายผลสู่ภูมิภาค    ควบคู่กับการสร้างมาตรฐาน SMART4  คาดสร้างเงินหมุนเวียนได้ 2 หมื่นล้าน พร้อมโชว์ผลสำเร็จโครงการปี 62 จำหน่ายรถฟู้ดทรัคกว่า 160 คัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเติบโตกว่า 220 ล้านบาท

กสอ. อัดงบ 20 ล้านปี 63 ดันธุรกิจฟู้ดทรัคสร้างเงินหมุนเวียน 2 หมื่นล.

                นายเดชา  จาตุธนานันท์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กสอ. ได้วางกรอบงบประมาณ จำนวน 20 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาธุรกิจฟู้ดทรัคให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  รวมถึงการขยายผลไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น  ควบคู่กับการสร้างมาตรฐาน SMART4 ให้ผู้ประกอบการ  ขณะเดียวกัน กสอ. ยังมุ่งหวังที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับพนักงานประจำ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้ได้มากกว่า 3,500 ราย ภายในระยะ 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท และเกิดเงินหมุนเวียนในเครือข่ายธุรกิจนี้ได้อีกกว่า 20,000 ล้านบาท

                ทั้งนี้  ที่ผ่านมา  กสอ. ได้ดำเนินกิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้มีมาตรฐานบนพื้นฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือ ที่เรียกว่า สมาร์ทโฟร์ฟู้ดทรัค (SMART 4 Food Truck)” ได้แก่ คน ครัว รถ และตลาด โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมทั้งสิ้น 104 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ผ่านมาตรฐาน SMART4 จำนวน 47 ราย  ซึ่งผู้ที่ผ่านมาตรฐานได้เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาดต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 14 ครั้ง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางตรงจากโครงการฯ ได้กว่า 29 ล้านบาท
 

กสอ. อัดงบ 20 ล้านปี 63 ดันธุรกิจฟู้ดทรัคสร้างเงินหมุนเวียน 2 หมื่นล.

นอกจากนี้ กสอ. ยังได้ขยายฐานฟู้ดทรัคด้วยกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการฟู้ดทรัคไปสู่ภูมิภาคใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ชลบุรี เชียงราย และสงขลา ซึ่งมีจำนวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 808 ราย ส่งผลให้มียอดการลงทุนในธุรกิจฟู้ดทรัค จำนวน 162 คัน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเฉลี่ย 64.8 ล้านบาท และมีฟู้ดทรัคอยู่ระหว่างการขอสินเชื่อพิเศษฟู้ดทรัค จำนวนกว่า 10 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อประเมินจำนวนเฉพาะผู้ประกอบการฟู้ดทรัคในฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 และพ.ศ. 2562 รวมกันจำนวน 136 รายแล้ว หากสามารถทำรายได้ตามยอดขายเฉลี่ย 4,000 บาท/คัน/วัน จะสามารถสร้างมูลค่าได้ 130 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าจากทั้งโครงการฯ แล้วจะสามารถสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจได้กว่า 220 ล้านบาท