“เกษตรกร 4.0-สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” หนุนบริการแชริ่ง “โดรนเพื่อการเกษตร” แจ้งเกิด เกษตรกรรายย่อยตื่นตัวแห่เช่าใช้โดรนพ่นยา ผู้ให้บริการเผยรายได้ต่อเดือน 90,000-180,000 บาท
โดรนเพื่อการเกษตร กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเกษตรกรยุค 4.0 แม้ปัจจุบันราคาจะสูงถึง 200,000-300,000 บาท ยังเป็นอุปสรรคของเกษตรกรรายย่อย แต่อนาคตด้วยกลไกการแข่งขันของตลาด และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2565 ราคาโดรนเพื่อการเกษตรจะลดลง อยู่ที่ 67,000-106,000 บาท จากราคาเปิดตัวในปี 2558 ที่ราว 300,000-500,000 บาท นอกจากนี้ยังมีโมเดลธุรกิจแบบแบ่งปัน หรือ เช่าใช้ ที่ช่วยเกษตรกรรายย่อยสามารถใช้ประโยชน์จากโดรนในการฉีดพ่นยา
นายจักรพงษ์ บูรวิชเกษตรกร ผู้ให้บริการฉีดพ่นยาด้วยโดรนเพื่อการเกษตรในเขตภาคกลางตอนบน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ตื่นตัวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร โดยขณะนี้ให้บริการรับพ่นยาด้วยโดรน เฉลี่ยเดือนละ 1,500 ไร่ โดย ค่าบริการอยู่ที่ 60-120 บาทต่อไร่ (คิดเป็นรายได้ประมาณ 90,000-180,000 บาทต่อเดือน) แม้ว่าต้น ทุนจะสูงกว่าค่าจ้างแรงงาน แต่สามารถช่วยเกษตรกรในด้านความ ปลอดภัย รวดเร็ว และความแม่นยำ
ส่วนนายสมาส เพ็ชรัตน์ ผู้ให้บริการฉีดพ่นยาด้วยโดรนเพื่อการเกษตรในเขตภาคตะวันออก ชลบุรี และฉะเชิงเทรา กล่าวว่าบริการฉีดพ่นยาด้วยโดรนมีการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการรับรู้ประโยชน์จากการใช้โดรนในการพ่นยามากขึ้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีพื้นที่เกษตรไม่ถึง 100 ไร่ การลงทุนโดรนที่มีราคาประมาณ 300,000 บาท อาจไม่คุ้มค่า และหันรเช่าใช้บริการแทน สำหรับผลตอบแทนการบริการดังกล่าวนั้นค่าบริการพ่นยาด้วยโดรนอยู่ที่ประมาณ 80-100 บาทต่อไร่ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 80,000 บาท ซึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นขณะนี้เริ่มมี ผู้ใหญ่บ้าน และสหกรณ์ชุมชนต่างๆ เริ่มลงทุนซื้อโดรนมาให้บริการกับเกษตรกรในพื้นที่มากขึ้น
ด้านนายจตุพงศ์ โตวรรธกวณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร แบรนด์ DJI กล่าวว่ากระแสการเข้ามาของเทคโนโลยี “โดรน” ทำให้เกษตรกรตื่นตัวเกี่ยวกับการนำโดรนมาใช้เพื่อการเกษตร โดยขณะนี้บริษัทมีเครือข่ายให้บริการพ่นยาด้วย
โดรนมากกว่า 30 ลำ ให้บริการครอบคลุมทั้งภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือตอนล่าง ค่าบริการอยู่ราว 80-100 บาทต่อไร่
ขณะที่ นายวิวัฒน์วงศ์ วิจิตรวาทการ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด ผู้ให้บริการโดรนเพื่อวิเคราะห์พื้นที่การเกษตร ภายใต้ชื่อโครงการ “เกษตรแม่นยำ” กล่าวว่าภาคธุรกิจ การเกษตรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากพบว่าจะทำการเกษตรแบบเดิมไม่ได้แล้ว เนื่องจากภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยน ไป และไม่สามารถขยายพื้นที่ทางเกษตรได้ ทางออกคือการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิต ในพื้นที่เท่าเดิม เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
ทั้งนี้โครงการเกษตรกรแม่นยำของบริษัทยังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับซันสวีท ผู้ส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่สุดในไทย โดยอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลผลิตต่อไร่ บนเนื้อที่ทั้งหมด 14,000 ไร่ ที่อำเภอเชียงดาว คาดว่าการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผลทั้งหมดจะสรุปได้ออกมาปลายปีนี้ หลังจากนี้บริษัทจะเริ่มขยายบริการออกไปเชิง พาณิชย์ พร้อมกับบริการเก็บข้อมูลภาคพื้นดินโดยใช้เทคโนโลยี IoT
อนึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาความคุ้มค่าการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ช่วยทำนาในภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการใช้และไม่ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการช่วยทำนา และจากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรที่มีการจ้างบริการโดรนในการพ่นสารกำจัดวัชพืช/แมลงศัตรูพืช และการพ่นฮอร์โมนบำรุงข้าว ซึ่งการใช้โดรนพ่นสามารถลดเวลาลงเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน 3-5 เท่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทักษะของผู้ควบคุมโดรน สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีลง 15-20% และไม่มีสารตกค้างในตัวผู้ปฏิบัติงาน สำหรับการคิดค่าบริการพ่นสารโดยใช้โดรน จะเท่ากับค่าจ้างแรงงานคน คือไร่ละประมาณ 50-80 บาท แต่กรณีเป็นพื้นที่ห่างไกลจะมีการคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นตามระยะทาง
ดังนั้น การใช้โดรนช่วยในการพ่นสารดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรลดเวลาในการพ่น ลดสารเคมี และข้าวไม่เสียหาย ด้านเกษตรกรที่ยังไม่มีการจ้างบริการโดรนในการพ่น พบว่า บางส่วนมีความสนใจที่จะจ้างบริการโดรนในการดูแลรักษานาข้าวครั้งต่อไป เนื่องจากเห็นการใช้โดรนพ่นจากพื้นที่นาแปลงใกล้เคียง แต่บางส่วนยังไม่แน่ใจที่จะใช้บริการ เพราะยังขาดความรู้ในการใช้โดรนพ่นสาร และมีพื้นที่ปลูกอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่ใช้บริการโดรนฉีดพ่น ทำให้ไม่พบเห็นการใช้โดรนจากพื้นที่ใกล้เคียง
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3484 วันที่ 4-6 กรกฎาคม 2562