‘ดุสิต’เปิดเกมรุก ขยายพอร์ตธุรกิจใหม่ปั๊มรายได้

01 ก.ค. 2562 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2562 | 17:42 น.
1.5 k

การปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อปรับโฉมเป็นดุสิต เซ็นทรัล พาร์คมิกซ์ยูส มูลค่าการลงทุน 3.67 หมื่นล้านบาท ระหว่างนี้ดุสิตธานีเตรียมแผนรับมือเชิงโครงสร้างไว้อย่างไร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อรายได้รวมของบริษัทมากจนเกินไป อ่านได้จากสัมภาษณ์ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

ตั้งเป้ารายได้โต 8-10%

ผลประกอบการช่วงไตร มาสแรกปีนี้ อาจจะดูว่าตกลงไปพอสมควร เนื่องจากเรามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานในช่วงที่ปิดโรงแรม แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษครั้งเดียว ไม่ใช่ตลอดทั้งปี ดังนั้นหากมองผลประกอบการตลอดทั้งปีแล้ว ดุสิตไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาส 3 จะมีการขายดุสิตธานี มัลดีฟส์ ให้กับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานีหรือ DREIT ก็จะมีกำไรจากการขายเข้ามาอีก บริษัทจึงไม่มีความกังวลเลย

อีกทั้งระหว่างการปิดโรงแรม บริษัทก็มีการลงทุนและหารายได้จากธุรกิจอื่นเข้ามาช่วยพยุง เช่น ธุรกิจอาหาร ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีรายได้ที่ประมาณ 400-500 ล้านบาท  ทั้งเรายังมองการหารายได้และกำไรจากทางอื่น เข้ามาเสริม โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้อยู่ที่ 8-10%  ซึ่งปีนี้เราจะเปิดโรงแรมใหม่ได้อีก 10-12 แห่ง ส่วนเป้าหมายในธุรกิจอาหาร ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2564 จะทำรายได้ในส่วนนี้ได้ราว 1 พันล้านบาท และจะมีการเติบโตราว 20-25% ต่อปี

บุกโรงเรียนการโรงแรมตปท.

ธุรกิจโรงแรมปีนี้เราจะเปิดโรงแรมใหม่อีก 10-12 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งที่ลงทุนเองและรับบริหาร ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ เปิดไปแล้ว 5 แห่ง เป็นการลงทุนในประเทศที่เราลงทุนเองเมื่อต้นปีใน 2 โครงการใหญ่ คือโรงแรมดุสิต สวีท โฮเท็ล  เป็นการซื้อโรงแรมที่ราชดำริ (ซอยมหาด เล็กหลวง) ขนาด 97 ห้อง อีกแห่งคือโรงแรมอาศัย (ASAI) เป็นโรงแรมแบรนด์ใหม่ในเครือดุสิต ตั้งอยู่ที่เยาวราช น่าจะเปิดรับลูกค้าได้ภายในสิ้นปีนี้ มูลค่าการลงทุนราว 1.6 พันล้านบาท

ส่วนที่เหลือในอีกครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะเปิดอีก 5-7 แห่ง อย่างช่วงปลายปีนี้กำลังจะเปิดที่สิงคโปร์ จากนั้นก็บาห์เรน และที่ฟิลิปปินส์จะเปิดเพิ่มอีกแห่งซึ่งจะเป็นการลงทุนของดุสิตเอง  ซึ่งก็ลงทุนเป็นพันล้านบาทเช่นกัน คาดว่าจะเปิดโรงแรมได้ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นโรงแรมภายใต้แบรนด์ดุสิตดีทู และส่วนที่เป็นโรงเรียนการโรงแรมด้วย ใช้ชื่อ Dusit Hospitality Management College (DHMC)”  จบหลักสูตร 4 ปีทำงานได้เลย เพราะที่นี่นักเรียนจะมีการฝึกงานตั้งแต่ปี 1 ถึงจบ และเมื่อเรียนจบจะได้ปริญญาทั้งของดุสิตเองและของโรงเรียนการโรงแรมที่โลซาน นอกจากนี้ในส่วนของโรงเรียนการโรงแรม กำลังจะมีอีก 2 ที่คือ ศรีลังกา และออสเตรเลีย

 

‘ดุสิต’เปิดเกมรุก  ขยายพอร์ตธุรกิจใหม่ปั๊มรายได้

นอกจากนี้ก็จะเตรียมเปิดโรงแรมในจีน ราว  2-3 แห่ง ก็จะครบตามจำนวนที่ตั้งใจเอาไว้ ส่วนในประเทศอื่นๆ ที่กำลังดูๆ อยู่ และคิดว่าอาจจะลงทุน ก็มีญี่ปุ่น อังกฤษ และปราก (สาธารณรัฐเชก) อีกทั้งในปีนี้จะปิดโรงแรมดุสิตธานี หัวหินบางส่วน เพื่อปรับปรุงให้ดูใหม่ขึ้น

ขยายธุรกิจอาหารต่อเนื่อง

สำหรับดาวรุ่งธุรกิจใหม่ คือด้านอาหาร เราไม่ได้ลงทุนอย่างสะเปะสะปะ แต่มีการเล็งเป้าหมายตามที่ต้องการ เช่น เราไปลงทุนในบริษัทที่ผลิต เขาก็จะผลิตของให้กลุ่มของเรา เวลาที่เราไปเปิดโรงแรมในต่างประเทศอาจจะหาพ่อครัวแม่ครัวยาก หรืออาจจะหาส่วนผสมหรือส่วนประกอบอาหารยากหน่อย พอเรามีธุรกิจนี้ปั๊บ เราก็มีเครื่องปรุงกลาง และร้านอาหารของเราในโรงแรมก็ประกอบอาหารได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เติมผักหรือเนื้อสัตว์ลงไป ก็ได้รสชาติและคุณภาพที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

อีกทั้งเมื่อคนมาทานอาหารแล้วติดใจจะซื้อกลับไปทานที่บ้าน เราก็มีแบรนด์ของเราออกมา เปิดตัวแล้วชื่อแบรนด์ว่าของไทยซึ่งเป็นของไทยจริงๆ เน้นเข้าไปในช่องทางร้านอาหารที่เป็นพรีเมียม เราก็ได้ไปเป็นพาร์ตเนอร์กับเชฟ เดวิด ทอมสัน ซึ่งเป็นมิชลินสตาร์เชฟอาหารไทยคนแรก

 

‘ดุสิต’เปิดเกมรุก  ขยายพอร์ตธุรกิจใหม่ปั๊มรายได้

                                    ศุภจี สุธรรมพันธ์ุ

เล็งรุกบัดเจท โฮเทล

ทั้งยังมองการเข้าไปดำเนินธุรกิจบัดเจท โฮเทล ก็พยายามคุยๆ อยู่ แต่ยังไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง การเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับคนอื่นหรือไปซื้อกิจการเขา มันเป็นวิธีการที่เราจะได้เรียนรู้ได้เร็วที่สุดในเซ็กเมนต์ที่ยังไม่เคยทำ และทำให้ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ก็เหมือนกับเราไปลงทุนในอีลิธ เฮเวนส์ ให้บริการให้เช่าวิลล่าหรูไฮเอนด์พร้อมบัตเลอร์ ซึ่งปัจจุบันดูแลวิลล่าอยู่ 260-270 หลัง หรือ FAVSTAY ซึ่งรูปแบบคล้ายๆ Airbnb เราก็ไปซื้อกิจการมา

การขยายธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ เช่น ขยายโรงแรมไป ดีตรงที่เรามีสถานที่ให้บริการเพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าอาจมีความต้องการที่หลากหลาย เช่น ถ้าเขามาประชุมสัมมนาเขาก็อยากมาพักโรงแรมแบบ full service ที่เรามีอยู่ 3-4 แบรนด์ แต่ในบางกรณีเขาอาจจะอยากได้วิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง หรือต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นเมือง เขาก็อาจจะมาพักที่ ASAI หรือถ้าอยากได้แบบไฮเอนด์ วิลล่า เขาก็ไป Elite Havens หรืออยากจะได้แค่เช่าบ้านมากันหลายๆ คนราคาไม่ต้องแพง ก็ไป FAVSTAY เรามองว่ายุคปัจจุบันนี้ถ้าเราสามารถดึงให้ลูกค้าอยู่กับเรานานที่สุด เราน่าจะมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างมีความมั่นคง เพราะว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องไปบุ๊กไปหาจากที่อื่น และเราไม่ได้ขยายธุรกิจในแง่ของการขยายจำนวนโรงแรม แต่ขยายในแง่ experience ที่ลูกค้าจะได้รับด้วย 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3483 วันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2562

‘ดุสิต’เปิดเกมรุก  ขยายพอร์ตธุรกิจใหม่ปั๊มรายได้