'พาณิชย์' ปลื้ม! "เอฟทีเอ" ดันส่งออก "นมและผลิตภัณฑ์นม" พุ่ง

15 เม.ย. 2562 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2562 | 09:45 น.
772


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย "เอฟทีเอ" ช่วยดันการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัว 3,258% ระบุ ตลาดใหญ่ "อาเซียนและจีน" พร้อมเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมไทย พัฒนาศักยภาพการแข่งขันรับมือการค้าเสรี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นม พบว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย เนื่องจากภายใต้เอฟทีเอ 12 ฉบับ ที่ไทยทำกับ 17 ประเทศ มี 13 ประเทศ ที่ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์จากไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี เหลืออีก 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์บางรายการจากไทย เช่น ญี่ปุ่น (นม 21.3-25.5% โยเกิร์ต 21.3-29% ชีส 22.4-40%) เกาหลีใต้ (นม 26.8% โยเกิร์ต 28.8% ชีส 36%) เป็นต้น จากมูลค่าการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยภายใต้เอฟทีเอ พบว่า ในปี 2561 ไทยมีมูลค่าส่งออก 437.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3,258% เมื่อเทียบกับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยที่ทำกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ (ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยจากประเทศเหล่านี้ ขยายตัวเพียงร้อยละ 187) โดยมูลค่าการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ภายใต้เอฟทีเอ คิดเป็นร้อยละ 92 ของการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยไปทั่วโลก โดยอาเซียนและจีนเป็นตลาดที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยในปี 2561 ขยายตัว 3,389% และ 5,550% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ไทยทำความตกลงเอฟทีเอ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยรองรับการค้าเสรี ดังนั้น ในการเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมา จึงได้เจรจาต่อรองทยอยลดภาษีศุลกากรสินค้านมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับการใช้มาตรการโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อช่วยภาคการผลิตและอุตสาหกรรมโคนมไทยมีเวลาปรับตัวก่อนเปิดตลาดรับการแข่งขันในอนาคต อาทิ การเปิดตลาดให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2564 และ 2568

นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย เช่น เชียงใหม่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และกาญจนบุรี เป็นต้น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในโลกการค้าเสรี โดยเฉพาะการร่วมมือกันทำงานระหว่างผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาศักยภาพ คุณภาพการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย ให้สามารถแข่งขันขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปอาเซียนและจีน โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยในปีที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้พาผู้ประกอบการนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนด้วย