'พีทีทีจีซี' ดึงสหรัฐฯ ร่วมทุน 'เนเจอร์เวิร์ค' ผลิตพลาสติกชีวภาพ

31 มี.ค. 2562 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2562 | 12:08 น.
3.1 k


'เนเจอร์เวิร์ค' มาแน่! ร่วมทุนไบโอพลาสติก PLA ในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ภายในปี 2565 ฟาก GGC-KTIS เริ่มก่อสร้างเฟส 1 แล้ว เตรียมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ต้นปี 2564 ขณะที่ ตลาดไบโอพลาสติกในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ความต้องการสูงขึ้น

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของ บริษัท โกล บอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในเครือบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ร่วมกับ บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ลงนามสัญญาเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย จำนวน 5.2 พันล้านบาท เพื่อลงทุนก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 1 เพื่อสร้างโรงหีบอ้อย โรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้า

ขณะที่ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ซึ่งเป็นการต่อยอดเอทานอลสู่อุตสาหกรรมไบโอเคมิคอลและไบโอพลาสติก ทาง PTTGC อยู่ระหว่างเจรจากับทาง บริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเข้ามาตั้งโรงงาน PLA แห่งที่ 2 ในประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้ ทางเนเจอร์เวิร์คยังลังเลมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ แต่ภายหลังมีความชัดเจนด้านการจัดตั้งโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ รวมทั้งได้เชิญผู้บริหารของเนเจอร์เวิร์คเข้ามาดูพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของกลุ่ม KTIS ที่สามารถจัดหาอ้อยได้มากถึง 10 ล้านตันต่อปี เทียบกับความต้องการใช้อ้อยในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 1 อยู่ที่ 2.5 ล้านตันต่อปี

 

\'พีทีทีจีซี\' ดึงสหรัฐฯ ร่วมทุน \'เนเจอร์เวิร์ค\' ผลิตพลาสติกชีวภาพ

 

ล่าสุด ทางกลุ่ม PTTGC อยู่ระหว่างการวิจัยทดลองในห้องแล็บ เพื่อเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียด้วยนํ้าตาลจากนํ้าอ้อย เพื่อผลิตเป็น Lactic Acid ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิต PLA จากเดิมที่เนเจอร์เวิร์คใช้นํ้าตาลจากข้าวโพด คาดว่า ผลการวิจัยจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ ขณะที่ การตัดสินใจด้านพันธมิตรที่จะเข้าร่วมลงทุนในเฟส 2 ที่ปัจจุบันหารือกับหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่ม Cargill และเนเจอร์เวิร์ค สหรัฐอเมริกา, กลุ่ม Corbion Purac เนเธอร์แลนด์ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้เช่นกัน

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกล บอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์มีพื้นที่ 2 พันไร่ โดยพื้นที่เฟส 1 ใช้พื้นที่ 1 พันไร่ และเหลืออีก 1 พันไร่ เพื่อขยายเฟส 2 ต่อยอดเอทานอลไปสู่อุตสาหกรรมไบโอเคมิคอลและไบโอพลาสติกต่อไป คาดว่า วงเงินลงทุนเฟส 2 จะอยู่ที่ 1-3 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับสัดส่วนถือหุ้น

โดยที่ผ่านมา กลุ่ม GGC ได้หารือกับพันธมิตรบ้างแล้ว เพื่อร่วมทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 แต่ต้องการให้เฟส 1 มูลค่าลงทุน 7.5 พันล้านบาท ก่อสร้าง 3 โรงงาน ได้แก่ โรงหีบอ้อย 2.4 หมื่นตันต่อวัน โรงผลิตเอทานอล 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จก่อน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. นี้ ตามแผนจะแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมต่อยอดการผลิตเคมีภัณฑ์และไบโอพลาสติก ระยะที่ 2

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอ เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า ขณะนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ยังไม่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปภายหลังจากเริ่มก่อสร้าง จะขอใบอนุญาตจากภาครัฐเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมต่อไป ขณะที่ การลงทุนในระยะที่ 2 นั้น ทางกลุ่ม GGC อยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตร ได้แก่ กลุ่ม Cargill ที่สนใจไบโอเคมิคอล และเนเจอร์เวิร์คที่สนใจไบโอพลาสติก

"ทั้งนี้ เชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติที่มีเทคโนโลยีจะให้ความสนใจ เพราะแนวโน้มไบโอพลาสติกจะเป็นเทรนด์ของโลก วันนี้ความต้องการเริ่มสูงขึ้น ขณะที่ ศักยภาพด้านจัดหาวัตถุดิบของ KTIS ในพื้นที่นี้อยู่ที่ 15-18 ล้านตันต่อปี โดยเฟส 1 ใช้อยู่ที่ 2.5 ล้านตันต่อปี" นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,457 วันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน 2562

 

\'พีทีทีจีซี\' ดึงสหรัฐฯ ร่วมทุน \'เนเจอร์เวิร์ค\' ผลิตพลาสติกชีวภาพ