จัดตั้ง "สภาดิจิทัล" ส.อ.ท. มีข้อสงสัย ส่อเอื้อกลุ่มทุนใหญ่

07 ก.พ. 2562 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2562 | 03:41 น.
636
สนช. ดันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาดิจทัลฯ เข้าสู่วาระ 2 และ 3 ในสัปดาห์หน้า คาดประกาศได้ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. นี้ ขณะที่ ส.อ.ท. ยังตั้งข้อสงสัยว่า มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หนุนหลังเร่งให้คลอดกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เหตุกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตกขบวน

การนำร่างร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวาระ 2 และ 3 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์หน้า กำลังเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย ว่า ผลจะออกมาอย่างไร จากที่ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ สนช. และเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ 17 คน ขึ้นมาพิจารณาในวาระที่ 2 มี นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นประธาน โดยตั้งเป้าที่จะให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้

ทั้งนี้ แม้ว่าการจัดตั้งจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ ดังกล่าว จะเป็นกลไกของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และหวังจะให้เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาททัดเทียมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของการผลักดันยกร่างกฎหมายฉบับนี้ หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตุว่า มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ทำธุรกิจครบวงจรทางด้านนี้ อยู่เบื้องหลังการผลักดันและยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ผ่านสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (TFIT) และมีความพยายามจะดึงกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ของ ส.อ.ท. ออกไปร่วมจัดตั้ง แต่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ของ ส.อ.ท. เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ผ่าน ส.อ.ท. อยู่แล้ว จึงมองไม่เห็นความจำเป็นจะต้องออกไปจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ ขึ้นมาใหม่

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลฯ ในสัปดาห์หน้าของ สนช. นั้น คงจะต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด ว่า ข้อสรุปจะออกมาอย่างไร เพราะร่างดังกล่าวยังมีความคุมเครือ โดยเฉพาะสมาชิกเข้าร่วมจัดตั้ง 22 สมาคม และมีการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสมาคมนั้น พบว่า การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการนั้น มีการกำหนดกลุ่ม หรือ แยกย่อยประเภทธุรกิจขึ้นมา 6–7 กลุ่มย่อย โดยใช้วิธีนำสมาชิกทั้ง 22 สมาคม มาจัดประเภท อาทิ กลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ดีไว (Smart Devices), ฮาร์ดแวร์ ชิ้นส่วนดิจิทัล, ซอฟต์แวร์, บริการดิจิทัล, โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล, ดิจิทัลคอนเทนต์ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มธุรกิจหลวม ๆ ไม่มีมาตรฐานระดับสากลรองรับ บางกลุ่มธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาแทบไม่มีสมาชิก หรือ มีสมาชิกแค่ 5-7 รายเท่านั้น ผิดจากคลัสเตอร์ใน ส.อ.ท. อย่างสิ้นเชิง


บาร์ไลน์ฐาน

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เห็นว่า กรรมการบางคนไม่มีความเหมาะสม เพราะมีผู้แทนจากสมาพันธ์ดิจิทัลและสมาคมที่เกี่ยวข้อง ล้วนเป็นผู้บริหารในเครือบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่เกือบทั้งสิ้น ที่ถูกส่งเข้ามาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายในวาระ 2 นี้ เป็นการตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มทุนสื่อสารเข้ามาครอบงำการพิจารณายกร่างกฎหมายจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ นี้หรือไม่

อีกทั้งเนื้อหาของกฎหมายที่จะให้มีการตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยขึ้นมานั้น มีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ให้ยกฐานะของคณะกรรมการสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยและผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ไปเป็นคณะกรรมการคณะแรกของสภาดิจิทัลโดยอัตโนมัติ และให้ยกเลิกสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้ของสมาคม ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ทั้งมวลไปเป็นของสภาดิจิทัลแทน และให้ถือว่าเป็นการทำงานต่อเนื่อง

ดังนั้น ในเมื่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม จึงมองไม่เห็นว่า การจะไปขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างไร

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว