“อุบลศักดิ์” ชำแหละร่าง พ.ร.บ.ข้าว .... ใครได้ประโยชน์?

28 ก.ค. 2561 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2562 | 22:35 น.
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. .... ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ ทั้งเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม -8 สิงหาคม 2561 ระยะเวลา 16 วัน

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัตินี้ ที่มีเนื้อหาระบุว่า ปัญหาการทำนา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง ผลผลิตข้าวมีคุณภาพลดลง รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพการทำนา ผลกระทบขาดความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วิธีการก็คือ ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตข้าวตลอดจนห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูกข้าวในไร่นา การแปรรูป การตลาด และการพัฒนาอาชีพทำนา สนับสนุนการรวมกลุ่มชาวนา และอื่นๆ นั้น

ubon

“มีความคิดเห็นว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่สามารถทำให้เกิดผลทางปฏิบัติได้เกษตรกรชาวนาได้รับประโยชน์น้อยมาก ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการทั้งหมดไม่เกิน 35 คน นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานฯ และมีกรรมการในส่วนราชการ 21 คน ส่วนกรรมการในส่วนภาคเอกชนและผู้แทนเครือข่ายชาวนา จำนวนไม่เกิน 10 คน แยกเป็นผู้แทนเครือข่ายชาวนาไม่เกิน 5 คน ภาคเอกชน จำนวนไม่เกิน 5 คน และกรรมการในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน มองว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการขาดความสมดุล ภาครัฐ มีจำนวนมากกว่า 2 เท่า อาจทำให้การพิจารณาเรื่องต่างๆ ขาดเอกภาพ อีกทั้งกรรมการที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการในระดับปลัดกระทรวงฯ มีภาระหน้าที่การงานที่สำคัญ มีภารกิจมาก การประชุมส่วนใหญ่มักจะมอบให้ผู้แทนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอำนวยการ หรือในตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ใช้เสียงโดยเอกสิทธิ์ได้ ข้อเสนอควรให้มีสัดส่วนของกรรมการที่สมดุล”

นอกจากนี้อำนาจของคณะกรรมการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปกติ ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่ และเป็นการสร้างกลไกเพิ่มเติม สิ้นเปลืองงบประมาณและมีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้น เพื่อกำหนดนโยบาย หรือแนวทางในการดำเนินงานเท่านั้น ไม่มีกลไกรองรับการทำงานอาจจะไม่สามารถสั่งการให้หน่วยงานอื่นดำเนินการตามนโยบายได้ อีกทั้งอาจขาดเอกภาพในการดำเนินงาน ในการขึ้นทะเบียน จดทะเบียนชาวนา ผู้อยู่ในห่วงโซ่ของการทำนา เช่น ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้รับจ้างทำนา เป็นต้น ทางภาครัฐไม่ควรเข้าไปควบคุม ซึ่งอาจขัดหลักสิทธิ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

โดยเฉพาะที่เป็นข้อห้ามและมีบทลงโทษเฉพาะในส่วนของเมล็ดพันธุ์ เช่น การห้ามจำหน่ายพันธุ์ ที่ไม่ได้รับรอง เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เสื่อมคุณภาพ และการโฆษณาคุณภาพที่เป็นเท็จ อีกทั้ง พระราชบัญญัตินี้มุ่งกำกับควบคุมมีบทลงโทษเฉพาะภาคเอกชน เกษตรกรชาวนาที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ระเบียบต่างๆ แต่ไม่มีเนื้อหาระบุถึงราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

ลิงค์ร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ....
http://web.senate.go.th/w3c/senate/secretariat.php?url=content&id=844

ลิงค์ร่างรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ....
http://questionnaire.senate.go.th/mod/questionnaire/view.php?id=340

e-book-1-503x62