ซีอีโอ‘รี้ด เอ็กซ์ฮิบิชั่นส์’ ถอดรหัสธุรกิจแสดงสินค้าโลก

17 ก.ค. 2561 | 03:33 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2561 | 10:33 น.
IMG_1327

สังคมโลกไม่เพียงจะอยู่ในยุค 4.0 เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และการเผชิญกับสงครามการค้าในขณะนี้ ส่งผลอย่างไรต่อทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้า (Exhibition) ของโลกและธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์พิเศษ นายเช็ต เบอร์เช็ตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รี้ด เอ็กซ์ ฮิบิชั่นส์ จากประเทศอังกฤษ

428358
เวทีสร้างโอกาสเอสเอ็มอี

ในปีที่ผ่านมา ตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในภาพรวมและยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องทุกๆ ปี ธุรกิจจัดแสดงสินค้าทั่วโลกมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 3% ขณะที่การเติบโตของรี้ด เอ็กซ์ ฮิบิชั่นส์ ที่เป็นผู้นำในธุรกิจแขนงนี้ ขยายตัวที่ 6% นับว่าเติบโตในอัตราสูงกว่าตลาดรวม

ปัจจัยขับเคลื่อนมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตัว ขณะเดียวกันธุรกิจจัดแสดงสินค้าก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก ผู้คนต้องการ “โอกาส” ดีๆที่จะได้จากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เราต้องไม่ลืมว่าผู้เข้าร่วมงานกว่า 70% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ได้มีเครือข่ายการตลาดหรือฝ่ายขายกระจายอยู่ทั่วในต่างประเทศเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ได้มีที่ปรึกษาทางธุรกิจเหมือนแบรนด์ดังระดับโลก

ดังนั้นการนำสินค้าเข้ามาร่วมแสดงในงานเทรดแฟร์หรือนิทรรศการดีๆ จึงอาจจะเป็นช่องทางเดียวที่มีอยู่เลยก็ได้ ที่พวกเขาจะสามารถนำเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

ศก.ชะลอตัวเอ็กซิบิชันคึกคัก

ส่วนสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ จะมีผลต่อธุรกิจเอ็กซิบิชันอย่างไรนั้น มองได้ทั้ง 2 ทาง คือในยามที่เศรษฐกิจเผชิญความยากลำบาก ผู้คนก็อาจจะมีงบประมาณที่จำกัดและลดการเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ แต่ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการจำนวนมากก็ตระหนักดีว่าในยามที่ตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์การเจริญเติบโต พวกเขาก็ต้องมองหาการขยายลู่ทางในต่างประเทศ และนั่นก็หมายถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเอง ได้ออกไปพบเจอกับลูกค้าหรือตลาดเป้าหมาย

“เพราะฉะนั้นในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว การจัดแสดงสินค้าก็อาจจะยิ่งคึกคัก ในอดีตที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรม (จัดแสดงสินค้า) ยังมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจโลกจะผ่านช่วงขาลงมาบ้างนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ”
ชี้ไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม4.0

นายเช็ตมองว่า ตลาดเอเชียมีแนวโน้มการเติบโตรวดเร็วมาก โดยเฉพาะตลาดจีน “สิ่งที่เราเห็นในตลาดประเทศแถบเอเชียก็คือการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับประเภทของงานแสดงสินค้าซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่การผลิตของประเทศนั้นๆ ยกตัวอย่างงานแสดงสินค้าประเภทสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เคยมีมากในประเทศจีน ก็โยกย้ายมาจัดมากขึ้นในเวียดนามและประเทศ อื่นๆ ในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

ส่วนประเทศไทยที่กำลังขยับตัวเองในห่วงโซ่การผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 งานแสดงสินค้าก็จะมุ่งไปในทิศทางนั้นมากขึ้น คือสินค้าที่มีเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่า เช่น หุ่นยนต์อุตสาห กรรมและเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ในมุมมองของเขานั้น ไทยถือเป็นฮับของธุรกิจงานแสดงสินค้าในอนุภูมิภาคนี้ และรี้ด เทรดเด็กซ์ ประเทศไทย ในเครือรี้ด เอ็กซ์ฮิบิชั่นส์ ก็เป็นผู้จัดแสดงสินค้าชั้นแนวหน้าทั้งในไทยและในภูมิภาคนี้ด้วย โดยปี 2561 นี้บริษัทจะมีงานแสดงสินค้า 20 งานที่จัดในไทยและเวียดนาม ส่วนรี้ด เอ็กซ์ฮิบิชั่นส์ ที่เป็นบริษัทแม่ จะจัดงานแสดงสินค้าถึง 500 งานใน 30 ประเทศทั่วโลก

IMG_0974 (1)
ค้าออนไลน์ไม่กระทบ

เทรนด์ของธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เขามองว่า บทบาทของเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือให้ผู้จัดงานแสดงสินค้าสามารถสร้างสรรค์บริการหรือข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าได้มากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงาน และทำให้ผู้มาร่วมงานได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ

หลายคนคิดว่า เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตตลอดจนการช็อปปิ้ง ออนไลน์ อาจจะเข้ามามีบทบาททำให้เกิดผลกระทบกับการจัดงานแสดงสินค้า แต่จริงๆ ไม่มีผลต่อการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นเวทีพบปะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เหตุผลก็คือการซื้อสินค้าออนไลน์อาจจะเหมาะกับสินค้าบางอย่างที่ผู้คนตัดสินใจซื้อขายได้ง่ายๆ แต่สำหรับสินค้าที่มีความละเอียดอ่อน เทคโนโลยีสูง หรือมีราคาแพง เช่น เครื่องใช้อิเล็ก ทรอนิกส์ รถยนต์ หรือเครื่อง จักรกล ผู้ซื้อต้องการสัมผัสจับต้อง สำรวจตรวจตรา ชมการสาธิตต่างๆ หรือเจรจาต่อรองก่อนการตัดสินใจซื้อล็อตใหญ่ๆหรือในมูลค่าสูง สินค้าเหล่านี้ยังคงเหมาะกับงานแสดงสินค้าซึ่งจะเป็นเวทีที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้

สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ งานแสดงสินค้าเป็นจุดนัดพบของผู้ซื้อผู้ขายนับร้อยนับพันรายในสถานที่จัดงานเดียวกัน จึงเป็นที่ที่เจ้าของสินค้าจะได้พบปะแนะนำตัวและทำธุรกรรมกับลูกค้าตัวจริงเสียงจริง “การพบปะเจรจากันในงานแสดงสินค้ามักจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่พวกเขาคาดหวัง นั่นก็คือการตกลงซื้อขาย”

PIT_7679

ใช้ประโยชน์บิ๊กดาต้า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการมองหาสินค้าที่ต้องการหรือการจับคู่ธุรกิจภายในงานแสดงสินค้าที่มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมากในพื้นที่จำกัด อาจจะเป็นเรื่องที่ชวนให้เหน็ดเหนื่อยและต้องใช้พลังงานอย่างมาก ผู้จัดงานแสดงสินค้าในยุคสมัยใหม่ สามารถนำเทคโนโลยีของผู้ค้าออนไลน์มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และทำให้งานน่าสนใจมากขึ้น เช่น การใช้โปรแกรมประมวลและวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ของผู้ที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย เพื่อนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

“เราสามารถนำข้อมูลจาก การเข้าร่วมงานในครั้งก่อนๆ มาประมวลวิเคราะห์เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ร่วมงานแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น หรือเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการเข้าร่วมงาน การซื้อขาย การใช้เวลาที่บูธต่างๆ ฯลฯ เพื่อประโยชน์ ในเชิงวิจัยและคาดการณ์การเข้าร่วมงานของพวกเขาในครั้งต่อๆ ไป ทั้งยังใช้ในการจับคู่ธุรกิจที่เหมาะสมให้กับผู้ซื้อและผู้ขายที่มาร่วมงาน”

ทั้งหมดล้วนเป็นทรรศนะของซีอีโอระดับโลกในธุรกิจนี้ ที่ก็ยังมองว่าอุตสาหกรรมแสดงสินค้าของโลกและไทยยังมีทิศทางบวกและเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีเครื่องมือด้านเทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3383 ระหว่างวันที่ 15 - 18 ก.ค. 2561

e-book-1-503x62