กนอ.ปลื้ม “รับเบอร์ซิตี้” เนื้อหอมชี้ 5 ข้อเด่นของนิคมฯที่นักลงทุนติดใจ

30 เม.ย. 2561 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2561 | 00:35 น.
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกิจกรรมโรดโชว์ Global Rubber Conference (GRC) หรือ งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านยางพารา ครั้งที่ 14 จ.สีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา เพื่อประชาสัมพันธ์นิคมอุตสาหกรรมยางพารา จ.สงขลา โดยมีผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐจากประเทศต่างๆ มากกว่า 300 ราย ให้ความสนใจ เนื่องจากมีจุดเด่น 5 ข้อ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน อาทิ ทำเลที่ตั้งสามารถกระจายสินค้าได้ทั่วประเทศ มาตรการส่งเสริมการขายและการยกเว้นภาษี ฯลฯ นอกจากนี้ กนอ.ยังได้เผยอีกว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารารายใหญ่จากประเทศไทย และมาเลเซีย ลงนามสัญญาซื้อและเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการแล้วจำนวน 3 ราย พร้อมกับอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 3 ราย

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้เข้าร่วมกิจกรรมโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์นิคมอุตสาหกรรมยางพารา จ.สงขลา หรือ Rubber City ในงาน Global Rubber Conference (GRC) ครั้งที่ 14 จังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านยางพารา ที่รวบรวมผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดจนนักวิจัยด้านยาง และหน่วยงานของรัฐ สมาคม ธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา มากกว่า 500 ราย ใน 25 ประเทศ อาทิ จีน มาเลเซีย อินเดีย อังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งได้รวมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทิศทางของอุตสาหกรรมยางพารา และการเสริมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจของผู้ประกอบการด้านยางพาราอย่างครบวงจร โดยถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาพรวมวงการยางพาราทั่วโลก ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราให้เติบโตร่วมกันในอนาคต

nikom

ทั้งนี้ Rubber City ของไทยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน ได้แก่
• ความเหมาะสมด้านทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถกระจายสินค้าได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเป็นศูนย์กลางอาเซียนภาคพื้นแผ่นดินในการกระจายสินค้าไปยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศ CLMV
• มีมาตรการส่งเสริมการขายสำหรับนักลงทุน และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่
• มีการให้บริการในส่วนของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (Total Solution Center : TSC) ที่ครอบคลุมการให้บริการต่างๆ ทั้ง “ก่อน” “ ระหว่าง” และ”หลัง” การลงทุนแบบครบวงจร (One Stop Service) ให้กับนักลงทุนภายในนิคมฯ

• มีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในราคาเพียง ตร.ม.ละ 150 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในเรื่องการก่อสร้างโรงงาน พร้อมแรงงานมีฝีมือจำนวนมากในท้องที่ สามารถรองรับอุตสาหกรรม Cluster ยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ได้อย่างครบวงจร
• นโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนมากและมีคุณภาพดี และสามารถรองรับการผลิตของผู้ประกอบการได้เป็นจำนวนมาก ช่วยให้ผู้ประกอบการได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

nikom2

ทั้งนี้ผลจากการเข้าร่วมงานดังกล่าว ยังทำให้ มีผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐจากประเทศต่างๆ มากกว่า 300 ราย ให้ความสนใจติดต่อสอบถามข้อมูล และมีบางส่วนติดต่อขอเข้าเยี่ยมชมพื้นที่นิคมฯ Rubber City เพื่อเข้ามาศึกษารายละเอียดประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไป อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนิคมฯ Rubber City ของไทยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารารายใหญ่ จากประเทศไทย และมาเลเซีย ลงนามสัญญาซื้อและเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการแล้วจำนวน 3 ราย พร้อมกับอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 3 ราย นายอัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

e-book-1-503x62