เคลียร์ข้อกังขาขายโควตานม หนองโพ แจงยิบ ‘โปร่งใส ไม่มีซิกแซ็ก’

19 ม.ค. 2559 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2559 | 15:28 น.
878
จากกรณีข่าวการขายช่วงโควตานมโรงเรียนของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ใน พระบรม ราชูปถัมภ์) ที่ร้องเรียนโดยตัวแทนจำหน่าย จนกระทั่งนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติและการจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ภาคเรียนที่ 2 /2558 นั้นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยจะเรียกคู่กรณีมาชี้แจง เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่

"ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์พิเศษ "กำพล รจนา" ประธานกรรมกรสหกรณ์โคนมหนองโพฯ ที่จังหวัดราชบุรี เพื่อต้องการคำตอบชัดๆ ต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งได้รับคำชี้แจงมีรายละต่อไปนี้

 ยันไม่ได้ขายช่วงโควตา

ประโยคแรกที่พูดคุยกัน "กำพล" กล่าวชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นการขายช่วงโควตา นมโรงเรียนเป็นการซื้อขายน้ำนมดิบกันระหว่างผู้ประกอบการ ทางสหกรณ์เองก็มีการขายน้ำนมดิบบางส่วนออกไปให้หน่วยงานต่าง ๆ เป็นปกติของการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่มาซื้อน้ำนมดิบไปทำนมเพื่อการพาณิชย์และนมโรงเรียน ซึ่งก็ได้มีการแจ้งข้อมูลการซื้อขายน้ำนมโคไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้รับทราบเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉลี่ยสหกรณ์ฯรับน้ำนมดิบจากสมาชิกวันละ 200 ตัน

"เกษตรกรจะมาส่งน้ำนมดิบที่ศูนย์จังหวัดราชบุรีทุกวัน เดิมมีสมาชิกประมาณ 5 พันราย แต่ที่ส่งจริงๆ ประมาณ 2.8 พันราย สาเหตุที่สมาชิกลดลง อาทิ อายุมากแล้วไม่มีคนทำต่อ เป็นต้น อย่างไรก็ดีทางสหกรณ์มีแผนที่จะขยายศูนย์รับน้ำนมดิบเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เพียง 1 ศูนย์ แต่คงต้องใช้เวลา ทั้งนี้เพื่อรับน้ำนมจากฟาร์มให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ผลตอบแทนสหกรณ์จะนำผลกำไรมาแบ่งปันผลให้กับสมาชิกแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการอบรมให้ความรู้กับสมาชิกเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ เป็นต้น"

"กำพล" ขยายความอีกว่า การขอสิทธิ์พื้นที่ขายน้ำนมดิบในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ซึ่งจะมีการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายทุกเทอม ในรูปน้ำนมดิบ ยกตัวอย่างสหกรณ์บ้านบึง มาขอซื้อน้ำนมดิบวันละ 2 ตัน แล้วมารับเองทุกวัน เพื่อนำไปจำหน่ายในส่วนนมโรงเรียนของโควตาสหกรณ์บ้านบึง จึงไม่เกี่ยวกับหนองโพ เพราะโควตานมโรงเรียนของหนองโพน้ำนมทุกหยดที่ได้รับไม่เคยขายโควตา แต่ที่ได้น้อยลงเพราะคณะกรรมการจัดสรรเท่านี้ ก็ขายได้ในพื้นที่และสัดส่วนที่ได้รับเท่านั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมาสหกรณ์ได้รับภารกิจให้ไปส่งนมโรงเรียนพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก ความจริงอยากขายภาคกลางให้มากขึ้น แต่สถานที่ตั้งของโรงงานอยู่ภาคตะวันตก ทางคณะกรรมการจัดไว้เป็นพื้นที่ส่งนมโรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ จึงส่งผลทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับกติกา

"ทั้งนี้หลักการของผู้ประกอบการ หรือสหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนได้คือผู้ประกอบการจะต้องรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร แล้วจะต้องไปทำเอ็มโอยู ร่วมกันว่าจะไม่ทิ้งเกษตรกร ที่จะส่งน้ำนมดิบ จำนวน 365 วัน ส่วนรับซื้อมาแล้วจะได้โควตาเท่าไร ขึ้นอยู่กับกติกาที่จะออกมาในแต่ละเทอม ไม่มีใครทราบล่วงหน้า แต่ละเทอมกติกาจะออกมาอย่างไร และผู้ประกอบการเองก็ต้องยอมรับความเสี่ยงว่าถ้ารับซื้อน้ำนมดิบแล้ว ทางคณะกรรมการจะจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายเท่าไร "

 ถูกล็อกพื้นที่โดยคณะกรรมการ

ในส่วนตัวแทนจำหน่ายของสหกรณ์ที่ไปร้องเรียนว่าบริษัทขายช่วงโควตานมโรงเรียนทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้นไม่ค่อยเข้าใจระบบการจัดสรรนมโรงเรียน ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของสหกรณ์เสียหาย ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้เคยขายในภาคกลาง ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการที่จัดสรรสิทธิ์ไม่ได้ให้หนองโพเข้าไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ก็ไม่สามารถเข้าไปขายได้ ตัวแทนบางคนถือโอกาสเข้าไปขายให้กับสหกรณ์นั้นไปเลย ซึ่งสหกรณ์ตรงนั้นก็รับทันที เพราะพื้นที่นั้นยังไม่มีตัวแทน แต่ปัจจุบันมีโรงงานนมเกิดขึ้นมากจำเป็นต้องแบ่งพื้นที่กันไป

"การจัดระบบนมโรงเรียนในช่วงหลังดีขึ้นมาก ก่อนหน้านี้มีการช่วยเหลือรายเล็กให้ขายในพื้นที่ก่อน ปีนี้จัดสรรใหม่โดยให้แต่ละภาคเคลียร์กันเอง อย่างไรก็ดีในปีนี้เทอม 2/2558 นอกจากหนองโพจะส่งนมโรงเรียนไปที่ 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว ยังมีจังหวัดอื่นๆ รวมแล้ว 20 จังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีผู้อื่น สอดแทรกด้วย ไม่ได้มีเพียงแค่หนองโพเพียงรายเดียว อย่างจังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ในภาคใต้ก็จริง แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ขาย เพราะมีสหกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว หนองโพจำเป็นที่จะต้องถอนตัวออกมา ส่งผลให้ตัวแทนจำหน่ายต้องถอนตัวออกมาเช่นเดียวกัน หลังจากมีการเยียวยาเบื้องต้นให้ไปขายในพื้นที่จังหวัดอื่นที่หนองโพได้สิทธิ์ขายตามที่พื้นที่คณะกรรมการได้จัดสิทธิ์ไว้ แต่ปัญหาคือ พอเปลี่ยนพื้นที่ยอดขายลดลง จึงเป็นเหตุผลที่มาทำให้ตัวแทนจำหน่ายไม่พอใจ ต้องเข้าใจว่าไม่มีระบบไหนสามารถตอบโจทย์และถูกใจทุกคนได้"

 ปี 2559 เน้นคุณภาพน้ำนมดิบ

"กำพล" กล่าวอีกว่า หนองโพหนองโพจะสนองนโยบายนมโรงเรียนแล้ว ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจด้านราคาแก่เกษตรกรเพื่อเป็นตัวกำหนดคุณภาพ อ้างอิงเกณฑ์ของกระทรวง ถ้าทำให้ได้มาตรฐานบวกราคาให้สูงสุดถึง 1.90 บาท (ราคาประกันที่กิโลกรัมละ 19 บาท) เป็นนโยบายของกรรมการที่ผลักดันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ปัจจุบันยอดขายทั้งนมโรงเรียนและนมพาณิชย์ของทางหนองโพประมาณกว่า 3 พันล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้วเติบโตทุกปี ( ยอดขายแบ่งเป็นนมโรงเรียน 1.2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นนมพาณิชย์) แต่ถ้าหากรวมธุรกิจทั้งหมด ผลประกอบการจะตกประมาณ 4 พันล้านบาท อาทิ ธุรกิจอาหารสัตว์ ปั๊มน้ำมัน ซูเปอร์มาร์เก็ต และแฟรนไชส์กาแฟอเมซอน เป็นต้น ขณะที่จากการเปิดประชาคมอาเซียนทางสหกรณ์และมีแผนจะบุกตลาดนมประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อาทิ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เป็นต้น

"กำพล" กล่าวตอนท้ายว่า สหกรณ์หนองโพ ทำอะไรทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีซิกแซ็ก เพราะอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แล้วเราจะต้องทำนมให้มีคุณภาพ ฝากประชาชนทุกคนช่วยกันร่วมดื่มนมหนองโพ ซึ่งเป็นนมของพ่อหลวง ปัจจุบันสหกรณ์โคนมหนองโพฯได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 43 ปีแล้ว ได้ดำเนินกิจการมาตามแนวพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตลอด ทำให้เกษตรกรไม่มีปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบเมื่อประกอบกับการดำเนินงานในรูปสหกรณ์ที่ผลประโยชน์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับสมาชิก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559