ลุ้นไฟเขียวปล่อยกู้ P2P ฟินเทค 5-10 รายพร้อม ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ

11 ธ.ค. 2560 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2560 | 19:01 น.
548
กรุงศรีฟินโนเวต เผยแบงก์ชาติ-คลัง เตรียมอนุมัติฟินเทคปล่อยกู้แบบ P2P ไตรมาส 2 ปีหน้า ประเดิมกลุ่มเอสเอ็มอีหวังช่วยลูกค้าเข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร เหตุไม่มีหลักประกัน ไม่ผ่านคนกลาง ความเสี่ยงตํ่าหนี้เสียไม่เกิน 2%

[caption id="attachment_240572" align="aligncenter" width="335"] แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด[/caption]

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของกฎกติกาการปล่อยกู้แบบ Peer to Peer Lending (P2P) หรือ การกู้ยืมระหว่างบุคคล โดยผ่านระบบออนไลน์และไม่ผ่านตัวกลาง ในส่วนของการปล่อยกู้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างร่างกรอบกติกา เพื่อส่งต่อให้กระทรวงการคลังอนุมัติ เนื่องจากจะมีเรื่องของกฎหมายการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ จึงต้องมีการพิจารณา

ทั้งนี้คาดว่าน่าจะสามารถออกใบอนุญาตให้สำหรับผู้ประกอบการฟินเทคที่จะดำเนินการปล่อยกู้แบบ P2P ในกลุ่ม SMEs ได้ แต่จะใช้รูปแบบโมเดลประเทศอะไร เป็นเรื่องที่ทางการกำลังพิจารณา เช่น การออกใบอนุญาตชั่วคราวแบบ 1 ปี เหมือนประเทศอินโดนีเซีย หรืออนุญาตให้ผู้ประกอบการเพียง 6 ราย เหมือนกับประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่พร้อมจะดำเนินการปล่อยกู้แบบ P2P กลุ่ม SMEs แล้วประมาณ 5-10 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยประมาณ 3-4 ราย

MP24-3321-2A สำหรับแนวคิดการปล่อยกู้ P2P ธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ แต่เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ค่อนข้างยากกว่ากลุ่มอื่น และต้องมีหลักทรัพย์คํ้าประกัน ทำให้การเข้าถึงสถาบันการเงินยาก แต่เป็นกลุ่มที่สำคัญต่อประเทศไทยที่ต้องการแรงกระตุ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นแนวคิดการปล่อยกู้แบบ P2P จะเป็นการดึงนวัตกรรม หรือ Solution เพื่อให้คนที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (UnBank) สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจากโมเดลในบางประเทศ จะให้มีการปล่อยกู้ P2P เฉพาะกลุ่ม SMEs เท่านั้น เช่น ประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น เพราะเป็นรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่ได้ผลค่อนข้างดีและความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยกู้ P2P แบบสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่ไทยกำลังทำอยู่ โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 2-3% แต่สิงคโปร์เอ็นพีแอลอยู่ที่ 1% เท่านั้น

ส่วนรูปแบบการปล่อยกู้แบบ P2P ของกลุ่ม SMEs หลักการผู้กู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนหรือสินเชื่อจะเข้าไปประกาศในเว็บไซต์ และจะมีฟินเทคเข้ามาดูประกาศดังกล่าว หากมีความสนใจจะปล่อยกู้ จะมีการประเมินลูกค้า ดูกระแสเงินสด ซึ่งกระบวนการจะเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ แต่ลูกค้าไม่ต้องมีหลักประกัน ภายหลังจากการประเมินเรียบร้อย จะแบ่งเกรดลูกค้าเป็นระดับเกรดต่างๆ เช่น เกรด A อัตราดอกเบี้ย 7% จนไปถึงเกรดที่คิดอัตราดอกเบี้ย 15% รวมถึงจะมีเกรดที่ไม่รับหรือไม่ปล่อยกู้ด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 หลังจากนั้นฟินเทคจะไปหากลุ่มนักลงทุนหลายๆคน ที่สนใจเข้ามาร่วมปล่อยกู้และโอนเงินให้กับผู้กู้ โดยผู้ประกอบการฟินเทคจะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งจากผู้กู้และผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้การปล่อยกู้แบบ P2P กลุ่ม SMEs เกิดขึ้นช้าหรือเกิดขึ้นไม่ได้ จะเป็นเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลประวัติลูกค้า โดยฟินเทคที่จะทำนั้น จะต้องมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 30 ล้านบาท จึงจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (NCB) ซึ่งปัจจุบันมีฟินเทคเพียงรายเดียวที่ทำได้ เพราะเป็นเรื่องของค่อนข้างยากสำหรับฟินเทค รวมถึงความกังวลเรื่องใครจะเป็นคนเก็บเงิน หรือเป็นตัวกลางให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ

“ตอนนี้มีผู้ประกอบการฟินเทคที่รอแล้วและมีความพร้อมแล้วประมาณ 5-10 ราย เป็นบริษัทไทยส่วนใหญ่ เพราะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ธปท.น่าจะกำลังศึกษาวิธีการของฟินเทคในเรื่องของการประเมินอยู่ น่าจะมีความชัดเจนหรือออกใบอนุญาตได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า ส่วนจะนำสูตรประเทศไหนมาใช้ต้องรอดู แต่เชื่อว่าการปล่อยกู้ P2P ของ SMEs น่าจะเกิดได้และผลดีกว่าปล่อยกู้บุคคล เพราะหนี้เสียน้อยไม่ถึง 2% ส่วนแบงก์เองก็มองว่าเป็นคนละตลาด และบางอย่างเราก็มีพันธมิตรร่วมกับฟินเทคอยู่แล้ว”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว