สบส. ตั้งทีมจับตาโฆษณาคลินิก เป็นด่านหน้า ขจัดภัยโฆษณาเวอร์ หลอกลวงผู้บริโภค!!

10 ส.ค. 2560 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2560 | 19:39 น.
897
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตั้งทีมจับตาการโฆษณาสถานพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะการให้บริการเสริมความงามที่มักใช้ข้อความ หรือรูปภาพโอ้อวดเกินจริง เตือนวัยรุ่นอย่าหลงเชื่อยอดวิว ยอดไลค์ ชี้เสี่ยงได้แผลแทนได้สวย หากพบเห็นคลินิกใดมีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงให้แจ้งกรม สบส.เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันกระแสความสวย ความงามแบบหนุ่ม-สาวเกาหลีเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยผ่านสื่อหลากหลายแขนง ส่งผลให้เกิดการปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติในกลุ่มวัยรุ่นว่าคนหล่อ คนสวย ต้องมีรูปร่างผอมเพรียว ดวงตาโต รูปจมูกปลายคม โครงหน้าเล็กในรูปแบบเกาหลีเท่านั้น ทำให้มีผู้ตัดสินใจเข้ารับบริการศัลยกรรม หรือเสริมความงามจากสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกรับบริการเสริมความงามจากสถานพยาบาลเอกชนเพียงเพราะคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี หรือการรับชมโฆษณาผ่านสื่อแขนงต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลผ่านเว็บไซต์, เฟซบุ๊ค (Facebook) และไลน์ (Line) ซึ่งมักจะใช้ข้อความ หรือรูปภาพโฆษณาโอ้อวดเกินจริง อาทิ ดีที่สุด, แห่งแรก, แห่งเดียวในโลก, ราคาถูกที่สุด, หายขาด, รับรองผล 100 เปอร์เซ็นต์ หรือการใช้ภาพเปรียบเทียบผลลัพธ์ก่อนและหลังรับบริการ ฯลฯ ในการโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดการเข้าชม (View) หรือยอดไลค์ (Like) ให้ดูน่าเชื่อถือ

“เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย และป้องปราม มิให้สถานพยาบาลมีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค จึงได้มอบหมายให้กองกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า จัดทีมเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณาของสถานพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงามในสื่อทุกประเภท โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งจากผลการสำรวจในปี 2559 มีประชากรไทยกว่า 38 ล้านคนที่ใช้งานสื่อโซเชียล และในจำนวนนี้ร้อยละ 86 มีการใช้งานเป็นประจำทุกวัน จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจนตกเป็นเหยื่อของสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อน และได้รับการเสริมความงามที่ไร้คุณภาพ มาตรฐาน จนเกิดผลข้างเคียงทั้งใบหน้าผิดรูป แผลเน่า หรือได้รับแผลเป็นแทนที่ความสวย หล่อตามที่มุ่งหวัง” นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าว

ด้าน นายดนัย สุวรรณา ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กล่าวว่า ต้องขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติ สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2546) เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโฆษณาสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด สถานพยาบาลเอกชนแห่งใดมีการโฆษณาเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้ประชาชนเข้ารับบริการกับตนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา และการโฆษณาสถานพยาบาลไม่ว่ากรณีใด ต้องได้รับการอนุมัติก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ โดยสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ให้ขออนุมัติจากกรม สบส. และส่วนภูมิภาคให้ขออนุมัติที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากสถานพยาบาลใดโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา

และหากประชาชนพบ หรือสงสัยการโฆษณาของสถานพยาบาล สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เฟซบุ๊ค “มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน” หรือที่กองกฎหมาย กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18830 ในวันและเวลาราชการ กรม สบส. จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้น