ที่ดินภูเก็ตพุ่งไร่ละ 60 ล้านอัพ ดัน 2 เมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้ารางเบา-อุโมงค์เข้ากะทู้-ป่าตอง

22 ก.ค. 2560 | 21:31 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2560 | 04:31 น.
673
สนข.ดัน 2 เมกะโปรเจ็กต์คมนาคมรับแผนพัฒนาเมืองภูเก็ตทั้งรถไฟฟ้ารางเบาและอุโมงค์ กะทู้-ป่าตอง รวมมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จับตาที่ดินพุ่งบางแปลงสูงถึงไร่ละกว่า 60 ล้านบาท

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการเร่งผลักดันโครงการขนาดระดับเมกะโปรเจ็กต์ของสนข.และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จำนวน 2 โครงการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตคือ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเส้นทางสนามบินภูเก็ต-ท่าฉลอง-ท่านุ่น ระยะทาง 60 กิโลเมตร วงเงินกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทและโครงการอุโมงค์ กะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.90 กิโลเมตร วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทว่ากรณีรถไฟฟ้ารางเบาอยู่ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งสรุปผลศึกษาเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี)

ในส่วนอุโมงค์กะทู้-ป่าตองล่าสุดพล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ผู้ว่าการกทพ.ได้ลงพื้นที่หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยขณะนี้ผลการศึกษาอยู่ระหว่างการทบทวนออกแบบรายละเอียดรอเพียงผลการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้นก็จะสามารถเสนอโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อเร่งเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

“นับเป็นเมกะโปรเจ็กต์อีก 2 โครงการที่จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เกิดการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจังหวัดภูเก็ตปัจจุบันสภาพการเดินทางยังต้องการระบบขนส่งมวลชนเข้าไปแก้ไขปัญหาหากเปิดให้บริการรถไฟฟ้ารางเบาก็จะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ส่วนการพัฒนาเมืองก็จะมีความเจริญเกิดขึ้นตามมาแน่ๆโดยเฉพาะตามแนวเส้นทางโครงการและจุดสำคัญของเมืองภูเก็ต”

TP12-3280-c ด้านนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจะมีความคืบหน้ามากกว่าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ กะทู้ - ป่าตอง นอกจากนั้นยังมีการก่อสร้างถนนตัดจากสะพานสารสิน ผ่านสนามบินภูเก็ต ขนาด 4 เลน เบื้องต้นพบว่ามีการไปจัดซื้อที่ดินไว้แล้วหลายราย จากเดิมราคาไร่ละ 3-4 ล้านบาทเพิ่มเป็น 10 ล้านบาท

สำหรับราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้ารางเบานั้นแถวสนามบินมีการจัดซื้อที่ดินไปแล้วช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคาไร่ละประมาณ 5 หมื่นบาท ติดทะเลราคาเหยียบแสนบาท บางแปลงราคาสูงถึง 40 ล้านบาท แถวย่านไม้ขาว ซึ่งเป็นราคายืนมาได้ราว 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันยังพบว่ามีการประกาศขายอยู่ประปลายราว 20 ล้านบาท ปริมาณที่ดินพัฒนาได้จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ

ส่วนตามถนนเทพกษัตรีที่แนวรถไฟฟ้าวิ่งผ่านไร่ละประมาณ 20 ล้านบาท แถวอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร โซนใกล้ๆจะไม่มีการพัฒนาอะไรมากนักแต่หากเข้าไปในซอยไร่ละ 4-5 ล้านบาท ติดถนนราคาไร่ละ 20 ล้านบาท ยกเว้นเส้นเลี่ยงเมืองจะพบว่ามีการพัฒนามากกว่า ใกล้เซ็นทรัลไร่ละ 60 ล้านบาท ราคายังทรงตัว เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจยังไม่หวือหวาในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เริ่มพบว่ามีความเคลื่อนไหวแล้วเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมระหว่างรถรางเบาจึงเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในการเดินทาง ทำนองเดียวกับแยกอินโดจีนนั่นเอง

ในส่วนการปรับราคาที่ดินตามแนวอุโมงค์กะทู้-ป่าตองยังไม่พบความเคลื่อนไหวที่หวือหวาในช่วงที่ผ่านมา แต่จับตาฝั่งป่าตองที่จะมีความคืบหน้ามากกว่า แถวห้างจังซีลอน มีประกาศขายที่ดินขนาด 50 ไร่ราคาราวไร่ละ 100 ล้านบาท ในซอยมีระดับ 40-60 ล้านบาท ติดทะเลมีเหลือน้อยมาก หายากมากขึ้น โซนแถวสนามบินพบว่ามีนักลงทุนจีนมาเช่าซื้อที่ดินไปพัฒนา พบว่ามีก่อสร้างคอนโดมิเนียมราว 20 อาคาร ส่วนแถวท่าฉลอง ราคาที่ดินยังอยู่ในระดับไร่ละ 25-30 ล้านบาท โดยพบว่ามีความเจริญมากกว่าแถวสนามบิน ทั้งนี้ภูเก็ตการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างโรงแรมยังมีต่อเนื่องเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่แถวป่าตองที่ถือว่าเป็นไข่แดงในการพัฒนายังพบว่าพื้นที่ราบยังมีจำนวนน้อย ยังมีป่าสงวน แต่ยังพบอีกว่ามีร้านค้าของนักลงทุนจีนเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ละโซนจะมีแยกกันชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส จีน เกาหลี

ดังนั้นจึงเป็นของนักลงทุนต่างประเทศ รีสอร์ตส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือนักลงทุนต่างประเทศแทบทั้งหมด มีประ มาณปี 2554 ที่ตลาดคอนโดมิเนียมจะบูมแต่ก็พบว่าขายให้นักลงทุนต่างประเทศกันส่วนใหญ่ ต่อมาผู้ประกอบการคนไทยเร่งผลิตขายราคาระดับกว่า 1 ล้านบาท ปัจจุบันพบว่าภาวะซบเซาลงไปบ้างจากผลกระทบด้านการท่องเที่ยวคาดว่าเมื่อครม.อนุมัติโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในพื้นที่ก็จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวตามมาได้

ดังนั้นภูเก็ตจึงมีทั้งคอนโดฯ และวิลล่า ยังอิงเศรษฐกิจโลก คอนโดฯรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีแนวโน้มที่ดี ผู้ประกอบการคนไทยยังมีอยู่บางส่วน ส่วนฝ่ายนักลงทุนจีนยังเช่าซื้อสิทธิ์ 49% กันค่อนข้างมากจะซื้อมากกว่าการเช่ากรรมสิทธิ์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560