Quality Plus ปั้นรายได้พุ่ง150% ชูนวัตกรรมสารสกัดเปลือกมังคุด

04 ก.ค. 2560 | 06:38 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2560 | 04:05 น.
890
อุตสาหกรรมด้านความงามมีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ว่ากันว่ามีมูลค่าตลาดรวมทั้งในประเทศและส่งออกราว 2.5 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างรุนแรง จึงเป็นสาเหตุที่บริษัท ควอลิตี้พลัสเอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ปรึกษาด้านการผลิตและการสร้างแบรนด์ครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอางครบวงจร ตั้งโจทย์ว่าจะต้องเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เน้นนวัตกรรม และสร้างความแตกต่าง ไม่ทำสินค้าขายตลาดล่าง ซึ่งมีคู่แข่งจำนวนมากอยู่แล้ว เหล่านี้คือจุดยืนของ "วุฒิ" วุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางของQuality Plus

-ผลิตป้อนกว่า1,000แบรนด์
ถ้าเปรียบ Quality Plus เป็นคนก็น่าจะอยู่ในวัยแตกหนุ่ม เพราะธุรกิจดำเนินการมาได้เกือบ 10 ปีแล้ว และกำลังทะยานไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า ภายในปี2560 ยอดขายรวมจะเติบโต 150% หรือคิดเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท จากที่ปัจจุบันมีรายได้ต่อปีกว่า 100 ล้านบาท รายได้เกือบทั้งหมดมาจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตหรือโออีเอ็ม ให้กับแบรนด์ต่างๆมากกว่า 1,000 แบรนด์ ที่กระจายอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีสาขาสำนักงานอยู่ที่เวียดนาม กัมพูชา และจีน รวมถึงมีแบรนด์ของตัวเอง 3-4 แบรนด์ ซึ่งบริษัทไม่พร้อมเปิดเผยชื่อแบรนด์ทั้งหมด แต่จะปล่อยให้เป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดของลูกค้าแต่ละรายไป

สำหรับการผลิตปัจจุบันจะเน้นสินค้า 3 กลุ่มหลักคือ 1.ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า หรือSKIN CARE 2.ครีมบำรุงผิว AEROSOL SKIN CARE 3.กลุ่มเมกอัพ ที่มีทั้งครีมรองพื้น แป้งทาหน้า ครีมลบริ้วรอย โดยผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับดีเกินคาด เช่น ผลิตภัณฑ์มาสก์หน้าขาวกระจ่างใส และผลิตภัณฑ์รักษาสิว ที่ล้วนเกิดจากผลพ่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญด้านนวัตกรรม ทำให้โรงงานผลิตครีม Quality Plus มีอัตราเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและกำลังก้าวต่อไปในฐานะผู้นำที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตสกินแคร์ โดยจะพบว่าแบรนด์ของลูกค้าส่วนหนึ่งวางขายอยู่ในวัตสัน และโมเดิร์นเทรด และในอีฟแอนด์บอยมากขึ้น

ผลตอบรับที่เกิดจากการยกระดับผลิตภัณฑ์ทำให้วันนี้บริษัทมีสัดส่วนฐานลูกค้าที่ผลิตป้อนในประเทศ70% และรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออก30% ไปยังตลาด จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา รัสเซีย เมียนมา ปัจจุบันมีสำนักงานขายอยู่ที่เวียดนาม จีน กัมพูชาแล้ว โดยจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์เป็นตลาดหลัก ยังไม่นับรวมถึงพันธมิตรทางการค้าในรูปของการวิจัยและพัฒนาร่วมกับญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการผลิตสารสกัดส่งออก ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ความร่วมมือด้านอี-คอมเมิร์ซ กับจอร์แดน เป็นต้น(ดูตาราง)

[caption id="attachment_172335" align="aligncenter" width="419"] Quality Plus ปั้นรายได้พุ่ง150% ชูนวัตกรรมสารสกัดเปลือกมังคุด Quality Plus ปั้นรายได้พุ่ง150% ชูนวัตกรรมสารสกัดเปลือกมังคุด[/caption]

-ตลาดขานรับสารสกัด
กรรมการผู้จัดการบริษัท Quality Plus อธิบายถึงนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีในขณะนี้ว่า เป็นผลงานการวิจัยที่ประสบผลสำเร็จ เกิดจากการค้นคว้าและพัฒนาผลผลิตผลทางการเกษตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และบริษัท ITO จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยสารสกัดระดับโลก ในการทำวิจัยสารสกัดนาโน พัฒนาการผลิตสารสกัดที่ผลิตในไทย แต่ทำการตลาดสารสกัดในญี่ปุ่น โดยสกัดจากเปลือกมังคุด สำหรับนำไปทำเซรั่ม หรือครีมแต้มสิว โดยนวัตกรรมดังกล่าวเพิ่งไปเปิดตัวในงานแสดงนวัตกรรมสารสกัดที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับดีมาก เนื่องจากได้ลูกค้าทั้งญี่ปุ่นและรัสเซียกลับมา

"เป็นสารสกัดบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุดมีราคาสูงมากตกกิโลกรัมละเกินหลัก1ล้านบาท โดยลูกค้าจะนำสารที่สกัดนี้ไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปาก เช่นยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากและกลุ่มอาหารเสริม"

-ตอบโจทย์ปั้นรายได้พุ่ง150%
อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่มาของยอดขายปีนี้ที่จะพุ่งสูงถึง 150% หรือกว่า 200 ล้านบาทนั้น เกิดจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่สารสกัดเปลือกมังคุด และการขยายฐานตลาดรับจ้างผลิตที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะภายในปลายปีนี้จะเริ่มบุกตลาดมิดเดิลอีสต์เช่น อิหร่าน ดูไบ อิสราเอล โดยเฉพาะจอร์แดนที่กำลังเจรจาความร่วมมือด้านอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงเมื่อเร็วนี้บริษัทเปิดช็อป "EVOGUE" ขายเครื่องสำอางที่แรกย่านรามคำแหง 65 ดำเนินการในรูปโมเดิร์นเทรด จะมีโปรโมชันออกมาเป็นระยะ

[caption id="attachment_172333" align="aligncenter" width="392"] Quality Plus ปั้นรายได้พุ่ง150% ชูนวัตกรรมสารสกัดเปลือกมังคุด Quality Plus ปั้นรายได้พุ่ง150% ชูนวัตกรรมสารสกัดเปลือกมังคุด[/caption]

-กุญแจสู่ความสำเร็จ
สุดท้ายวุฒิพงษ์ กล่าวถึงกุญแจดอกสำคัญในการทำธุรกิจจนเติบโตมาถึงปัจจุบันว่า ประการแรกต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประการที่ 2 จะต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ประการที่ 3 การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีประการที่ 4 การให้ความสำคัญต่อคนโดยเน้นความสุขของพนักงานและองค์กรที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึงการมีระบบอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things: IoT) หลังจากที่ได้งบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาเครื่องจักร เช่นติดเซ็นเซอร์ที่เครื่องจักร เพื่อดึงเข้าระบบออนไลน์ มอนิเตอร์สุขภาพและการทำงานของเครื่องจักร

และประการสุดท้าย การที่ได้รับโอกาสสนับสนุนจากภาครัฐทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆทำให้บริษัทมีช่องทางในการเปิดตลาดใหม่และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมาสู่มือผู้บริโภคจนได้รับการยอมรับ โดยมีมาตรฐานการผลิต GMP, ISO 9001 และ ISO 22716การันตี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560