ทีพีซีผนึกเฮนลีย์ฯดันยอดขายอีลิทการ์ด

09 ม.ค. 2560 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2560 | 23:25 น.
อีลิทการ์ด ดึง เฮนลีย์แอนด์พาร์ทเนอร์ส ผู้นำระดับโลกด้านการวางแผนที่อยู่อาศัยและสัญชาติ มาร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ เคลมรายได้ยอดขายอีลิท การ์ด ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทต่อปี เอื้อดันกระแสเงินสดของทีพีซี ทะลุ 1 พันล้านบาทใน 1 ปี เร็วกว่าการขายในรูปแบบปัจจุบันที่หากทำเอง จะใช้เวลาราว 3 ปี

นายพฤทธิ์ บุปผาคำ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจคาร์ด จำกัด หรือทีพีซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทีพีซี มีแผนจะร่วมมือบริษัท เฮนลีย์แอนด์พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partner)ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านการวางแผนที่อยู่อาศัยและสัญชาติ (Residence & Citizenship) ที่มีสำนักงานมากกว่า 28 บริษัททั่วโลกเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับทีพีซี โดยจะเข้ามาเป็นตัวแทนขายบัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท

การร่วมมือเป็นพันธมิตรกับทางเฮนลีย์แอนด์พาร์ทเนอร์ส มีเงื่อนไขว่า ทางบริษัทจะตั้งเป้ายอดขายอีลิทการ์ด ได้ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ภายใต้การได้รับค่าคอมมิชั่นจากทีพีซีในอัตราเดียวกันทั้งหมด คือ อยู่ที่ 15% ซึ่งถือเป็นอัตราค่าคอมมิชั่นในระดับที่สูงที่สุด จากปกติที่ตัวแทนขาย อีลิท การ์ดในต่างประเทศที่มีอยู่จำนวน 20 บริษัท จะได้รับค่าคอมมิชั่นจากขายอยู่ที่ 10% หากขายได้ตั้งแต่ 20 ใบขึ้นไป 12.5% หากขายได้ตั้งแต่ 21-40 ใบ และ15% เมื่อขายได้ 41 ใบขึ้นไป

ทั้งนี้การดึงเฮนลีย์ฯ มาเป็นพันธมิตร จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของรายได้จากยอดขายอีลิท การ์ด ในปีหน้าให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากรวมกับการขายที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันที่อยู่ที่ราว 400 ล้านบาท เมื่อรวมกับเป้าหมายของเฮนลีย์ฯ ก็จะมีรายได้จากการขายอยู่ที่ราว 800-1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อดีของการนำบริษัทระดับโลกด้านการวางแผนที่อยู่อาศัยและสัญชาติมาร่วมเป็นพันธมิตร

เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการเฮนลีย์ ล้วนเป็นบุคคลและครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย และยังเป็นบริษัทให้บริการคำปรึกษาชั้นนำแก่รัฐบาลของหลายประเทศ อาทิ มอลตา , ออสเตรเลีย ในการดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาและออกแบบเชิงยุทธศาสตร์ ด้านโครงการที่อยู่อาศัยและสัญชาติที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆของโลก เห็นได้จากการการวางแผนที่อยู่อาศัยและสัญชาติของเฮนลีย์ ที่มีหลากหลายไม่ต่ำกว่า 20 โปรแกรม

การที่อีลิทการ์ด ได้รับความสนใจจากเฮนลีย์ เพราะจุดเด่นของบัตรสมาชิกที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติหรือนักลงทุน ที่อยากจะมาลงทุน การพำนักระยาว หรือการซื้อเรสสิเดนท์ในไทย จากสิทธิประโยชน์ของอีลิทการ์ด โดยเฉพาะในเรื่องของวีซ่า 5 ปี รวมถึงการรับรองแบบวีไอพี และการใช้บริการต่างๆ อาทิ สนามกอล์ฟ สปา อีกทั้งการนำไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ไปขาย ก็เป็นการขายอีลิท การ์ด ที่ทีพีซีวางรูปแบบไว้อยู่แล้ว ไม่ได้ต้องไปออกแบบบัตรมาใหม่เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

“ ขณะนี้ทีพีซี มีกระแสเงินสดในมือ 550 ล้านบาท ถ้าเราขายอีลิท การ์ด ตามแผนการดำเนินการเหมือนในปัจจุบันเราจะมีกระแสเงินสดถึง 1 พันล้านบาทภายใน 3 ปี แต่ถ้าดึงบริษัทเฮนลีย์ฯมาร่วมเป็นพันธมิตรก็จะทำให้ทีพีซี มีเงินสด 1 พันล้านบาทได้ภายใน 1 ปีข้างหน้านี้ ทั้งอีลิท การ์ด ยังได้อิมแพ็คในการทำตลาดในระดับเวิล์ดไวด์ ผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของเฮนลีย์ที่มีอยู่ทั่วโลกและหลากหลายภาษา อีกทั้ง ทางเฮนลีย์ฯก็มีแผนจะตั้งสำนักงานในประเทศไทย เพื่อดูแลลูกค้าของบริษัทด้วย”นายพฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่งปัจจุบันสมาชิกอีลิท การ์ด มีทั้งหมด 3,857 ราย แยกเป็นสมาชิกก่อนปี2556 (สิทธิประโยชน์ฟรีตลอดชีพ) จำนวน 2,509 ราย และเป็นสมาชิกใหม่อยู่ที่ 1,348 ราย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560