ETDA เผยมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคาดปี 59 โตถึง 12.4%

27 ก.ย. 2559 | 19:12 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2559 | 02:15 น.
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  เปิดเผยผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2559 พบว่า ในปี 2558 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ไทย มีมูลค่ากว่า 2.24 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจขายให้กับธุรกิจ (B2B) 1.33 ล้านล้านบาท มูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับผู้บริโภค (B2C) ประมาณ 0.51 ล้านล้านบาท และมูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับภาครัฐ (B2G) ประมาณ 0.40 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ปี 2559 จะเติบโตแบบก้าวกระโดด 12.42% มูลค่ารวมสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท

ETDA ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่องมาจนถึงครั้งนี้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้มีความครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อีคอมเมิร์ซของไทย สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือเปรียบเทียบ รวมถึงใช้ประกอบการวางนโยบาย จัดทำแผนบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์และกำหนดแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลายเป็นโอกาสเติบโตสำคัญของผู้ประกอบการไทยทั้งรายเก่าและรายใหม่ ท่ามกลางความซบเซาของตลาดรูปแบบเดิม ๆ ทำให้มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการวางรากฐานของประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ทำให้อีคอมเมิร์ซเป็นกลไกสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปอีกขั้น โดยเราเชื่อมั่นว่าผลการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมของไทย”

การสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่มีความครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ได้ รวมถึงเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลจากผลการสำรวจไปใช้ประกอบการวางนโยบาย การบริหารจัดการกลยุทธ์ การวางแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งในระดับองค์กร รวมถึงระดับประเทศ เพื่อปรับตัวให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ETDA ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 527,324 ราย ซึ่งได้รายชื่อและความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ การสำรวจครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จัดแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้เกณฑ์ผลประกอบการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อปี ในกลุ่มนี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์ (Face to Face Interview) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี กลุ่มนี้ใช้การสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์ (Online Survey) โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน– กันยายน 2559 ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งหมด 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการประกันภัย อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และอุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ

จากการสำรวจ พบว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2,245,147.02 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 43.47% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B ประมาณ 1,334,809.46 ล้านบาท (59.45%) รองลงมาคือ มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2C ประมาณ 509,998.39 ล้านบาท (22.72%)  และมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G ประมาณ 400,339.17 ล้านบาท (17.83%) ในส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซออกเป็นประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 หมวดอุตสาหกรรม หากไม่รวมมูลค่าจาก e-Auction พบว่า อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

oอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 559,697.54 ล้านบาท (30.21%)

oอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 536,725.26 ล้านบาท (28.97%)

oอุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 428,736.23 ล้านบาท (23.14%)

ตามด้วยอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 232,721.36 ล้านบาท (12.56%) อุตสาหกรรมการขนส่ง (3.46%) อุตสาหกรรมบริการด้านอื่นๆ (1.03%) อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ (0.51%) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยที่สุด คือ อุตสาหกรรมการประกันภัย (0.11%)

ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2559 พบว่า มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,523,994.46 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40.08% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็น 12.42% ส่วนมูลค่าขายนั้นส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,381,513.39 ล้านบาท (54.74%) ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 คิดเป็น 3.50% รองลงมาคือ มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2C จำนวน 729,292.32 ล้านบาท (28.89%) ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 คิดเป็น 43.00% และมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G จำนวน 413,037.84 ล้านบาท (16.37%) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็น 3.21% และหากไม่รวมมูลค่า e-Auction ในปี 2558 มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B, B2C และ B2G คิดเป็น 72.05%, 27.53% และ 0.43% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2558 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาพรวมของการคาดการณ์อุตสาหกรรมในปี 2559 หากไม่รวมมูลค่า e-Auction จะพบว่า อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

oอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 731,828.33 ล้านบาท (34.55%)

oอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 643,033.15 ล้านบาท (30.35%)

oอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 343,866.80 ล้านบาท (16.23%)

ตามด้วยอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 281,866.93 ล้านบาท (13.30%) อุตสาหกรรมการขนส่ง (3.32%) อุตสาหกรรมบริการด้านอื่นๆ (1.65%) อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ (0.53%) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยที่สุดยังคงเป็นอุตสาหกรรมการประกันภัย (0.08%)

Infographic2 เมื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นในรายละเอียด พบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย (รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ) มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยมีผู้สนใจลงทุน ค้าขาย รวมถึงใช้บริการในจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติใน 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย พบว่าไทยกำลังก้าวเป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค

Infographic3 จากข้อมูลสถิติที่กล่าวมาข้างต้น ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการไปอย่างมาก ก่อให้เกิดรูปแบบการสื่อสาร เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ขาดสาย ปัจจัยด้านนโยบายของภาครัฐที่พยายามขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซสู่อาเซียนและตลาดโลก ผนวกกับปัจจัยด้านรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าและเป็นไปมาตรฐานสากล เช่น Any ID หรือพร้อมเพย์ การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจของภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐเอง ซึ่งหากกระบวนการในการทำธุรกรรมสะดวก รวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศที่จะพัฒนาการค้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เนื่องจากสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ได้รับความสะดวกสบายและมีปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย