ด่วน ศบค.ปรับโซนสีโควิด ลดพื้นที่สีส้ม เพิ่มสีเหลือง-ฟ้า ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน 

18 มี.ค. 2565 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2565 | 23:10 น.
4.8 k

มติที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบปรับโซนสีโควิดล่าสุด ลดพื้นที่สีส้ม เพิ่มพื้นที่สีเหลืองและสีฟ้า และต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน 

วันที่ 18 มีนาคม 2565 รายงานข่าวจากที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบปรับแบ่งโซนสีโควิดล่าสุดใหม่อีกครั้ง โดยปรับลดระดับพื้นที่โซนสีดังนี้ 

 

พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เดิม 44 จังหวัด ปรับลดเหลือ 20 จังหวัด 

 

ได้แก่ ตาก นครนายก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก ระนอง ระยอง ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุราษฏร์ธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์

พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เดิม 25 จังหวัด เพิ่มเป็น 47 จังหวัด 

 

ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตราด นครพนม นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุทัยธานี อุบลราชธานี

พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) จาก 8 จังหวัด เพิ่มเป็น 10 จังหวัด 

ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต และ เชียงใหม่

 

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. เป็นต้นไป

ด่วน ศบค.ปรับโซนสีโควิด ลดพื้นที่สีส้ม เพิ่มสีเหลือง-ฟ้า ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน  ด่วน ศบค.ปรับโซนสีโควิด ลดพื้นที่สีส้ม เพิ่มสีเหลือง-ฟ้า ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน 
นอกจากนี้ยังมีมติให้ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) ต่อไปอีก 2 เดือน 

 

จากนั้นเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยมติที่ประชุม ศบค. ที่สำคัญ มีดังนี้

 

1. เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ และคงมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบบูรณาการ

  • ปรับระดับพื้นที่ควบคุม จาก 44 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง จาก 25 จังหวัดเป็น 47 จังหวัด พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวจาก 8 จังหวัดเป็น 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่) พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ใช้มาตรการเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง
  • คงมาตรการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในร้านอาหาร สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง คงมาตรการจำกัดเวลาในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 23.00 น. คงมาตรการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2-Plus เท่านั้น และตามมาตรการ COVID Free Setting
  • Work From Home ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

 

โดยมอบหมาย มท. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ตรวจประเมินสถานบริการฯ ร้านอาหาร และกำกับติดตามตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำให้หน่วยงาน และสถานประกอบการ เตรียมพร้อมมาตรการ Work From Home หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์
 

2. เห็นชอบแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่ Post 3 Pandemic/ COVID-19 Endemic ด้านสาธารณสุข โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
 

3. เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรสำหรับผู้เดินทาง Test & Go (บก น้ำ อากาศ) Sandbox Quarantine (AQ, OQ, SQ) และผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565

  • ก่อนเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ทุกกลุ่ม  
  • เมื่อเดินทางถึงราชอาณาจักร กรณี Test and Go และ Sandbox ตรวจ RT-PCR Day 0 และ Self-ATK Day 5
  • กรณี Quarantine กักตัว 5 วัน และตรวจ RT-PCR Day 4-5
  • กรณี ผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในไทย กักตัว 5 วัน และตรวจ Self-ATK Day 5

 
4. เห็นชอบมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 “ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย สงกรานต์วิถีใหม่ รับผิดชอบต่อครอบครัว และสังคม” และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้ 

  • การเตรียมตัวก่อนร่วมงาน ให้พิจารณา ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง/ร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง ผู้จัดงาน และกิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ TSC2+ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ (แสดงคอนเสิร์ต/ดนตรี งานอีเวนท์ งานเทศกาล มหกรรม) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ
  • ระหว่างช่วงงานสงกรานต์ พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับ อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรีโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน (1 ต่อ 4 ตารางเมตร)  สวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน
  • พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม
  • กิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว จัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ สวมหน้ากากตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์ และสัมผัสใกล้ชิดลูกหลาน - ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม
  • หลังกลับจากงานสงกรานต์ สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK  พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

 
5. ศบค. ยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) (1 เมษายน 2565 -31 พฤษภาคม 2565) เพื่อให้เอื้อต่อการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุข ในการควบคุมการติดเชื้อ ไม่ให้เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การอยู่กับโรค COVID-19 ในระยะยาว รวมถึงการบริหารจัดการการเดินทางสัญจรข้ามจังหวัด และการรวมกลุ่มทางสังคมของประชาชนในห้วงเทศกาลสงกรานต์