ชมรมนักธุรกิจเมียนมา ในประเทศไทย

09 ม.ค. 2566 | 04:15 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนนักธุรกิจชาวเมียนมา ที่คุ้นเคยกับผมมาก ท่านได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายท่านหนึ่ง ได้เชิญผมไปดื่มกาแฟกันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ด้วยความยินดีที่ได้พบท่าน เพราะในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ท่านได้เดินทางกลับไปอยู่ในกรุงย่างกุ้ง เพื่อดูแลธุรกิจของท่านที่ยังคงดำเนินการอยู่ ผมเองก็ไม่มีเวลาเดินทางเข้าไปกรุงย่างกุ้งมานานสอง-สามเดือนแล้ว จึงไม่มีโอกาสได้นั่งคุยกันมานานพอสมควร เมื่อท่านเชิญมีหรือที่ผมจะปฎิเสธได้ แม้โดยปกติแล้วในช่วงกลางคืนผมจะไม่ค่อยออกนอกบ้านก็ตาม แต่ผมก็รีบออกไปพบท่านครับ
 

การนั่งเสวนากันในคืนนั้น คุยกันอย่างออกรสชาติมาก เราได้คุยกันหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการถามไถ่ถึงเพื่อนๆ นักธุรกิจหลายท่านที่ผมรู้จัก ที่บางท่านก็เดินทางออกไปตั้งหลักปักฐานที่ต่างประเทศ บางท่านก็มาอยู่ที่ประเทศไทยเรา ที่สำคัญคือหลายๆ ท่านยังคงปักหลักอยู่ในประเทศเมียนมาอยู่ ซึ่งผมเองก็มีความคิดว่า เขาคิดถูกแล้ว ที่ยังคงปักหลักอยู่ในนั้น เพราะถ้าหากเป็นคนที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ไม่สมควรจะต้องเดินทางไปอยู่ที่ไหน เพราะถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศเมียนมาก็ยังคงเป็นบ้านเกิดเมืองนอน (Mother Land) ของเขาอยู่ การที่ทุกคนถ้าคิดแต่จะเอาตัวรอดเพียงอย่างเดียว แล้วทิ้งให้คนที่อยู่ข้างหลัง รับชะตากรรมที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อขึ้น ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียใจนะครับ
 

ช่วงหนึ่งของบทสนทนา เขาถามความเห็นของผม เกี่ยวกับเรื่องการเมืองคือผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่ามีความคิดอย่างไร? ผมก็ตอบไปว่า อันที่จริงผมมิบังอาจจะก้าวล่วงได้ เพราะแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมแตกต่างกันไป แต่ครั้งนี้ผมขอแตะสักนิดนะครับ นั่นคือผลเกิดจากความดื้อและการใช้คนไม่ถูกกับงานมากกว่า เพราะเราก็ต่างทราบกันดีว่า บทเรียนที่ประเทศเพื่อนบ้านของคุณเคยผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นบทเรียนที่ควรจะนำเอามาเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะกว่าจะถึงวันนี้ได้ เพื่อนบ้านคุณก็ก้าวผ่านการปฎิวัติรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง
 

ทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร ก็ไม่ได้เกิดความสูญเสียมากมายนัก ในขณะที่หลายๆประเทศ มักจะเกิดการสูญเสียมากมาย ด้วยความเคารพในประชาธิปไตย ผมเองก็มิบังอาจก้าวล่วงไปวิจารณ์ใดๆจริงๆ เพียงแต่ได้แต่ถอนหายใจเท่านั้นเองครับ อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมมองของเพื่อนที่แสนดีของพวกคุณ ผมก็คิดว่าถ้าหากประเทศเมียนมาอดทนกันอีกสักนิด หรือถอยหลังกันคนละก้าว ก็น่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ 
 

เขาได้ถามว่าประเทศเขายังมีความหวังในมุมมองของคนไทยหรือไม่? ผมก็ตอบว่า ความหวังย่อมมีอยู่เสมอ เพียงแต่ระยะเวลาที่จะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเมียนมา อาจจะต้องใช้เวลาอีกนิด เพราะประเทศเมียนมาเป็นประเทศเล็กในหลักของเศรษฐศาสตร์ ยิ่งโดนไปสองเด้ง การออกตัวอาจจะช้ากว่าประเทศอื่นๆ ได้ ดังนั้นความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว ก็ขึ้นอยู่ในมือของนักธุรกิจทั้งหลาย ที่กุมเศรษฐกิจของประเทศอยู่ จะเห็นได้ว่าทุกคนยังคงมีความรักชาติอย่างเต็มเปี่ยมในหัวใจอยู่แล้ว หากทุกคนยอมเสียสละบ้าง ช่วยกันพยุงเศรษฐกิจไว้ อย่าได้รีบหนีเอาตัวรอดก่อน ผมเชื่อมั่นว่าประเทศเมียนมายังไม่ได้เลวร้ายเลยครับ 
 

อีกเรื่องหนึ่งที่เพื่อนชาวเมียนมาถาผมว่า วิธีการที่ผมเคยทำในอดีต ช่วงยุค 2010-2020 ด้วยการก่อตั้งสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา-ไทย (MTCCI) ด้วยเงินทุนส่วนตัวเกินกว่าสิบล้านบาท ผมมีความคิดอย่างไรที่ทำเช่นนั้น? ผมก็ตอบเขาแบบติดตลกไปว่า ตัวผมทานข้าวเปาะซานมุยของเมียนมามาเยอะแล้ว ก็ควรจะช่วยเหลือประเทศเมียนมาบ้าง แม้ระยะเวลาจะสั้นมาก แค่สิบปีเท่านั้น ก็ยังดีที่ได้ทำครับ ซึ่งเขาก็บอกว่าเป็นไอเดียที่ดีมาก ที่สามารถรวมกลุ่มคนไทยที่ต้องการไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมาได้
 

เขาเองก็มีแนวคิดที่จะจัดตั้งชมรมนักธุรกิจไทย-เมียนมา ในประเทศไทยเช่นกัน เพื่อรวบรวมนักธุรกิจเมียนมาที่ทำมาหากินในประเทศไทย แล้วดึงเอานักธุรกิจไทยเข้าไปร่วมด้วย เพื่อจะได้คอยเป็นพี่เลี้ยงให้นักธุรกิจเมียนมาได้ แต่พอเขาเปิดรายชื่อกลุ่มเพื่อนๆ ชาวเมียนมาของเขา ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แล้วเปิดดำเนินธุรกิจการนำสินค้าส่งออกไปยังประเทศเมียนมาบ้าง มาท่องเที่ยวระยะยาวบ้าง ซื้อบ้านพักอาศัยเพื่อเป็นที่พักผ่อนเวลาเดินทางมาไทยบ้าง ผมเห็นแล้วก็ทราบว่าแต่ละท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นนักธุรกิจใหญ่ที่เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีอยู่หลายท่าน ก็น่าสนใจมากครับ
 

ผมจึงได้นำเอาตัวอย่างของนักธุรกิจเมียนมา ที่อาศัยอยู่ที่ไต้หวัน ที่ผมเคยไปพบเจอมา นำมาเล่าถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเขา ให้แก่เพื่อนท่านนี้ฟัง ท่านก็อึ้งไปชั่วขณะเช่นกัน ท่านบอกว่า ก็เคยได้ยินมาว่ามีชาวเมียนมาเชื้อสายจีน อาศัยอยู่ที่นั่นเยอะ แต่ก็ไม่ได้ลึกซึ้งมาก ไม่น่าเชื่อว่าจะรวมกลุ่มกันได้มากขนาดนั้น ผมก็บอกไปว่า นี่คือจุดเด่นของชาวเมียนมา แม้แต่ที่มหานครนิวยอร์ก ก็ยังมีสมาคมชาวเมียนมา ที่เข้มแข็งมากเช่นกัน เพราะเพื่อนสนิทที่เป็นหุ้นส่วนบริษัทผม เขาเป็นนายกสมาคมดังกล่าวอยู่ครับ
 

อย่างไรก็ตาม หากชมรมดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยจริง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เกิดการค้าการลงทุนกันมากขึ้น ปัญหาด้านธุรกรรมทางการเงิน ก็จะลื่นไหลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน โดยที่นักธุรกิจไทยไม่ต้องเกรงว่าจะขายสินค้าแล้วเก็บเงินไม่ได้ หรือนักธุรกิจเมียนมาซื้อสินค้าที่ไทย แล้วจะไม่ได้สินค้าตามสเปคที่ต้องการ ทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขอย่างดีทีเดียวครับ