ทำความรู้จัก Kao Kim Hourn ว่าที่เลขาธิการอาเซียนคนใหม่

09 พ.ย. 2565 | 11:57 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 18:57 น.
14.3 k

ทำความรู้จัก Kao Kim Hourn ว่าที่เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,834 หน้า 5 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2565

การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้อนุมัติเห็นชอบตามข้อเสนอของประเทศกัมพูชาในการเสนอชื่อให้ ดร.เก้า กึม ฮอน (Kao Kim Hourn) เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นตำแหน่งหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษรของรายชื่อประเทศสมาชิกอาเซียน

 

โดย ดร.เก้า กึมฮอน จะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการอาเซียนในเดือนมกราคม 2023 ต่อจาก Dato’ Paduka Lim  Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน คน ปัจจุบันซึ่งเป็นชาวบรูไน ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนธันวาคม 2022

 

 

 

ดร.เก้า กึมฮอน เกิดที่เมือง กำปกจามในวันที่ 28 พฤษภาคม 1966 ปัจจุบันอายุ 56 ปี โดยในช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่ปี 1975-1979 เขาและครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยทางการเมืองจากระบอบเขมรแดงเข้ามาอาศัยในค่ายผู้อพยพบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก่อนที่ทั้งครอบครัวจะเดินทางต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา 

 

ในสหรัฐอเมริกา เก้า กึมฮอน ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อเรียนหนังสือในวิถีอเมริกัน ซึ่งแตกต่างห่างชั้นอย่างยิ่งจากสิ่งที่เขาเรียนรู้ในกัมพูชาและในค่ายผู้อพยพ แต่ด้วยความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น เก้า กึมฮอน เรียนจบปริญญาตรีสาขาเอเชียศึกษา จาก Baylor University ใน Texas ในปี 1989 ก่อนที่จะเรียนต่ออีกเพียง 2 ปีจนจบปริญญาโทอีก 2 สาขา นั่นคือ รัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย Ohio University และในระดับสูงสุดคือ ระดับปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย University of Hawaii at Manoa ในปี 2001

 

 

ทำความรู้จัก Kao Kim Hourn ว่าที่เลขาธิการอาเซียนคนใหม่

 

 

ด้านชีวิตการทำงาน ดร.เก้า กึมฮอน เดินทางกลับมาทำงานในประเทศกัมพูชา เมื่อสงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 หรือ สงครามกัมพูชาสิ้นสุดในช่วงต้นทศวรรษ​ 1990 โดยในปี 1993 เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ Khmer International Relations Institute

 

และได้รับทุนวิจัยจาก Asia Foundation เพื่อวางรากฐานในการสร้างองค์การปราบปรามคอร์รัปชันแห่งแรกของประเทศในนาม Cambodia Public Accountability and Transparency project (CPAT) ซึ่งถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง แต่หน่วยงานดังกล่าวก็ได้พัฒนาต่อไปเป็น Center for Social Development (CSD) ซึ่งก็จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อไปในการเป็นคลัง สมองภายใต้หน่วยงาน Cambodian Institute for Cooperation and Peace (CICP) ที่เป็นผู้ทำนโยบายให้กับประเทศ

 

ผลงานสำคัญที่สุดของ ดร.เก้า กึมฮอน ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน นั่นคือ ตลอดปี 1997 จนถึงปี 1999 ที่กัมพูชาได้รับสถานะเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของอาเซียนนั้น แทบจะเรียกได้ว่า บุคคลผู้เป็นต้นทางของความคิด และการลงมือเตรียมความพร้อมในทุกมิติเพื่อให้กัมพูชาสามารถเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนได้ ก็คือ ดร.เก้า กึมฮอนผู้นี้นั่นเอง โดยในช่วงเวลานั้นเขาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

ดร.เก้า กึมฮอน เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2001-2004 ก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจนถึงปี 2013 และตั้งแต่ 2013 จนถึงปัจจุบัน เขาก็ถูกดึง ตัวไปทำงานใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุน เซน ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (Minister Delegate Attached to the Prime Minister ในกัมพูชาตำแหน่งนี้เทียบเคียงได้กับรองนายกรัฐมนตรี)

 

ด้านประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ดร.เก้า กึมฮอนเป็นหนึ่งในผู้ ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย University of Cambodia ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นผู้ก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ SEATV (South East Asia Television Network and Radio) 

 

สำหรับตัวผู้เขียน พวกเราชาวไทยเคยภาคภูมิใจที่มี ท่านอาจารย์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเลขาธิการอาเซียนที่พวกเราภูมิใจมากที่สุดฉันใด สำหรับชาวกัมพูชา ดร.เก้า กึมฮอน ก็มีประสบการณ์การทำงานที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับดร.สุรินทร์ ฉันนั้น

 

แต่สำหรับคนไทย ท่านที่จะมีโอกาสดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนท่านถัดไป เราคงต้องรอไปอีก 35 ปี (เพราะเป็นตำแหน่งหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร และเลขาธิการจากแต่ละประเทศจะได้ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี) หรืออาจกล่าวได้ว่า ว่าที่เลขาธิการอาเซียนชาวไทยท่านถัดไป ท่านนั้น ปัจจุบันยังคงเป็นเด็กนักเรียนมัธยมในวันนี้ก็เป็นไปได้