คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ...ครองโลก (2)

24 ส.ค. 2565 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2565 | 19:12 น.
605

คุมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ...ครองโลก (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

คำถามยอดนิยมก็คือ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีมูลค่ามากขนาดไหน มีศักยภาพที่จะเติบโตเท่าไหร่ จึงทำให้นานาประเทศต่างให้ความสนใจกับการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้กันนัก ...


ในด้านอุปทาน งานวิจัยหนึ่งระบุว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีมูลค่ากว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นรองก็แต่เฉพาะด้านการทำฟาร์ม และน้ำมัน และ ก๊าซ ซึ่งมีมูลค่าปีละ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ 

ขณะเดียวกัน โดยที่เซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่หลากหลายในหลายระดับ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมีมูลค่าธุรกิจรวมกันสูงกว่าหลายร้อยหลายพันเท่าตัว นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลของหลายชาติต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปขึ้นในประเทศ


ในทางกลับกัน ความไม่สามารถในการจัดหาชิปได้อย่างเหมาะสมก็อาจส่งเสียต่อการพัฒนาของธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรม การขาดแคลนชิปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และที่เกี่ยวข้องหดหายไปถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เฉพาะยอดขายยานยนต์ในปี 2021 ก็ลดลงถึงกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าให้แล้ว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่กระจุกตัวอยู่กับผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่สิบรายในไม่กี่ประเทศ จึงทำให้ “เค้กใหญ่” ก้อนนี้หอมหวานและเป็นที่หมายปองเกินห้ามใจ

 

ประการสำคัญ มองออกไปข้างหน้า เซมิคอนดักเตอร์คาดว่าจะแทรกซึมเข้าไปเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น และจะมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับสู่สังคมที่ดีกว่าของมวลมนุษยชาติในอนาคต 

 

อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบการประมวลผลที่รวดเร็วดุจใจนึก ความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) สมาร์ตโฟนล้ำสมัย รถยนต์และโดรนไร้คนขับ อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) และระบบกำกับควบคุมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และอื่นๆ


 จากสถิติในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตลาดชิปโลกเติบโตเฉลี่ย 8.5% ต่อปี โดยตลาดใหญ่ที่เติบโตแรงอยู่ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ได้แก่ จีน (14.1%) และสหรัฐฯ (10.9%) 


นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะเติบโตในอัตรา 10% ในปี 2022 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะมีนัยสำคัญต่อจีดีพีโลกในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต


โครงสร้างตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกอาจแบ่งได้กว้างๆ เป็น 2 ส่วน คือ ตลาดระดับบนที่มีขนาดเล็กกว่า 14 นาโนมิลลิเมตร ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าไฮเทค สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และ อุปกรณ์การบินและอวกาศ และตลาดระดับกลางที่มีขนาดตั้งแต่ 14 นาโนมิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งมีอุปทานส่วนเกิน การลงทุนซึ่งต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดทุน

 

นี่อาจทำให้หลายคนถึง “บางอ้อ” ว่าทำไม ซัมซุง (Samsung) ซึ่งมีแหล่งซัพพลายชิปคุณภาพสูงภายในของตนเอง จึงก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดสมาร์ตโฟนโลกได้ ในทางกลับกัน หัวเหว่ย (Huawei) ที่ถูกสหรัฐฯ บอยคอตเรื่องการจัดซื้อชิปคุณภาพสูง จึงประสบปัญหาในการออกผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่


ทั้งนี้ ตลาดชิปคุณภาพระดับกลางและระดับบนดังกล่าวต่างแบ่งเค้กของตลาดโลกไปอย่างละครึ่งโดยประมาณ แต่เชื่อว่าตลาดระดับบนจะมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

แล้วหากมองเป็นรายกิจการในระดับจุลภาค ก็อาจนึกถึงบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกที่ส่วนใหญ่ก่อกำเนิดในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และพุ่งทะยานในช่วง 3 ทศวรรษหลังนี้ ...

 

รายแรกที่ใหญ่สุดและกำลังเป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันก็ได้แก่ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ผู้ผลิตจากไต้หวัน ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา กิจการได้เติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยราว 20% ต่อปี ในระยะหลัง บริษัทฯ ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ และเติบโตเฉลี่ยราว 10% ต่อปี 


ปัจจุบัน TMSC ตั้งโรงงานกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ และมีสัดส่วนทางการตลาดคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก 

 

โดยผลิตชิปคุณภาพสูงรุ่น A-Series และ M-Series เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าของแบรนด์ระดับโลกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปเปิ้ล (Apple) ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของรายได้โดยรวม

 

ขณะที่มีเดียเทค (MediaTek) เอดีเอ็ม (ADM) ควอลคอม (Qualcomm) และบรอดคอม (Broadcom) ก็มีสัดส่วนรายได้ราว 3-6% รวมทั้งลูกค้ารายใหม่อย่างเทสลา (Tesla) ที่กำลังโด่งดังในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า


อินเทล (Intel) แชมป์เก่า ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้านซีกตะวันตกของสหรัฐฯ บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1968 และเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีเครือข่ายสาขาอยู่ราว 50 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก 


 อินเทลเคยโด่งดังระดับโลกกับแคมเปญ “อินเทลอินไซด์” (Intel Inside) ที่เข้าไปเป็นอุปกรณ์สำคัญส่วนหนึ่งของคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ จนทำให้ก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกอยู่นานหลายปี และในชวงหลายปีหลัง บริษัทฯ ก็พยายามฉีกหนีคู่แข่งขันรายใหม่ด้วยนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต


เอเอ็มดี (AMD) ก็เป็นรายใหญ่อีกรายหนึ่งจากค่ายสหรัฐฯ Advanced Micro Devices, Inc. มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เขตซานตาคลารา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย นับแต่จัดตั้งในปี 1969 กิจการก็เติบโตมาโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังภายใต้การนำของประธานและซีอีโอชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวันที่มากฝีมืออย่างลิซ่า สวี 

 

ผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายรายเปิดเผยว่า เอเอ็มดีมีจุดเด่นในด้านโปรเซสเซอร์ และได้ก้าวขึ้นทาบชั้นอินเทลในหลายด้านแล้วในปัจจุบัน

 

ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) หนึ่งใน “แชโบล” (Chaebol) ธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่และหลากหลายของเกาหลีใต้ ที่ทายาทกำลังโด่งดังกับเรื่องการนิรโทษกรรมอยู่ในขณะนี้ 


บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1969 ปัจจุบันมีเครือข่ายอยู่ในราว 80 ประเทศทั่วโลก ชิปที่ถูกผลิตขึ้นถูกใช้กับสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้ารุ่นซัมซุงกาแล็กซี่ (Samsung Galaxy) แถมยังผลิตป้อนให้กับหลายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในหลายประเทศ


ขณะที่ดาวรุ่งดวงใหม่ของวงการมาจากแดนมังกร ซึ่งได้แก่ Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ “เอสเอ็มไอซี” (SMIC) รัฐวิสาหกิจจีนแห่งเซี่ยงไฮ้ ที่มีฐานการผลิตกระจายในหลายหัวเมืองของจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และปักกิ่ง


ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทฯ ได้แก่ ไฮซิลิคอน (HiSilicon) ต้าถังเทเลคอม (Datang Telecom) ควอนคอม บรอดคอม และเท็กซัสอินสตรูเม้นท์ (Texas Instrument) ซึ่งมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของรายได้โดยรวม อย่างไรก็ดี ลูกค้าของ SMIC ก็ยังมีขนาดเล็กและเติบโตต่ำกว่าของ TSMC อยู่มาก 


อย่างไรก็ดี ภายใต้นโยบาย Made in China 2025 รัฐบาลจีนกำหนดให้เซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนา ทำให้ SMIC ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตผ่านมาตรการทางการเงิน การคลัง และอื่นๆ ของรัฐบาลจีน และยังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเติบโตในอัตราที่สูงของตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นจุดแข็งของกิจการเหล่านี้ของจีน


 ที่ผ่านมา SMIC มีความสามารถในการแข่งขันในชิปคุณภาพปานกลางขนาด 14 นาโนมิลลิเมตร แต่เมื่อไม่นานมานี้ เทคอินไซด์ (Tech Insights) บริษัทวิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์ ได้เปิดเผยว่า ได้ค้นพบชิปคุณภาพสูงขนาด 7 นาโนมิลลิเมตรที่ผลิตโดย SMIC ในเครื่องขุดเงินบิตคอยน์ของจีน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด


ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งก็ตั้งข้อสังเกตว่า จีนได้เริ่มใช้ชิปคุณภาพสูงในการปล่อยยานอวกาศมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนั่นสะท้อนว่า จีนมีเทคโนโลยีในการผลิตชิปคุณภาพสูงแล้วในปัจจุบัน


อย่างไรก็ดี SMIC ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากต่างประเทศในช่วงหลายปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลก 


รู้จักโครงสร้างอุตสาหกรรมและตลาด รวมทั้งกิจการรายใหญ่ในวงการไปแล้ว คราวหน้าเราไปติดตามดูความท้าทายของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และสงครามเทคโนโลยีกันครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,812 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2565