“แอชตัน อโศก” สั่นคลอนตลาดคอนโดฯ

02 ส.ค. 2566 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 14:40 น.

“แอชตัน อโศก” สั่นคลอนตลาดคอนโดฯ บทบรรณาธิการ

คำสั่ง “ศาลปกครองสูงสุด” ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ “แอชตัน อโศก” คอนโดฯ หรู 51 ชั้น มูลค่า 6,481 ล้านบาท ใจกลางเมืองหลวง ทั้งๆ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีผู้เข้าอยู่อาศัย โอนโฉนดแล้วจำนวน 580 ครัวเรือน สร้างความสั่นคลอนให้กับตลาดคอนโดมิเนียมไม่น้อย 
     
ยิ่งเมื่อผู้บริหาร บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เจ้าของโครงการ “แอชตัน อโศก” ออกมาบอกว่า ยังมีโครงการที่ขอผ่านทางลักษณะคล้ายกันกับ “แอชตัน อโศก” ในกรุงเทพฯ อีก 13 โครงการ ทั้งคอนโดมิเนียม และศูนย์การค้า และมีโครงการใกล้เคียงเป็น 100 โครงการที่ขอเชื่อมทางกับหน่วยงานของรัฐ 
 
ร้อนถึงบิ๊กดีเวลลอปเปอร์แนวสูง ที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็น “โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์” หนึ่งในบิ๊กเนมที่มีคอนโดฯ ติดแนวรถไฟฟ้ามากรายหนึ่ง ที่ออกมายืนยันว่าทั้งโครงการนิว โนเบิล รัชดา-ลาดพร้าว บริเวณอาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว, โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ตรงอาคารจอดแล้วจร
 

สถานีศูนย์วัฒนธรรม “รฟม.” อนุญาตให้ใช้ทางเข้าออกอาคารจอดรถแบบไม่กำหนดระยะเวลา โดยทางเข้าออกที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ ยังคงสภาพเป็นทางเข้าออกเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใด โดยผิดวัตถุประสงค์เดิม
     
ขณะที่ “แสนสิริ” ก็ยืนยันว่าทั้งโครงการเดอะ เบส การ์เดนท์ พระราม 9 และเดอะ เบส เพชรเกษม ซึ่งเจ้าของเดิมถูกเวนคืนที่ดินแบบรอนสิทธิ์ ทำให้ยังสามารถใช้สิทธิเข้าออกได้เหมือนเดิม ทั้ง 2 โครงการจึงดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย
     
รวมถึง “วิซดอม พินนาเคิล คอร์ปอเรชั่น” ในเครือบริษัท แมคโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(MQDC) เจ้าของโครงการ วิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว ก็ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ที่ดินที่มีการเชื่อมทางเข้า-ออกของโครงการสู่ถนนลาดพร้าว มีสิทธิเดิมสามารถขึ้นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสูงตามกฎหมายควบคุมอาคารได้อย่างถูกต้องอยู่แล้ว เพราะมีด้านหน้าของที่ดินเกินกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะคือถนนลาดพร้าวมาตลอด ถือเป็นสิทธิดั้งเดิมที่เจ้าของที่ดินมีอยู่แต่ต้น

เมื่อถูกเวนคืนที่ดิน รฟม. ก็ให้สิทธิ์ใช้เป็นทางผ่านของที่ดินออกสู่ถนนสาธารณะ เพื่อพัฒนาที่ดินเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรือ อาคารสูงได้ตามสิทธิเดิมที่เคยมี
     
แต่นี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “คอนโด” ในกทม. ที่แห่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการอาศัยแนวรถไฟฟ้า มาเป็น “จุดขาย” ล่อใจผู้ที่อยากมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง 
     
งานนี้ “ชาวคอนโดฯ” ทั้งหลายก็ต้องมาสำรวจตรวจสอบว่าโครงการที่ตัวเองซื้อไว้ ถูกต้อง ไม่ผิดหลักเกณฑ์หรือข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายควบคุมอาคาร การเชื่อมทาง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ  

ส่วนโครงการที่กำลังรอขาย ก็คงเหี่ยวเฉาต่อไป เพราะนอกจากต้องเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอย การจูงใจให้คนที่มีเงินแต่ขาด “ความเชื่อมั่น” ควักเงินในกระเป๋าซื้อ เป็นเรื่องที่ยากแสนเข็ญ