คนอีสานจากอดีต-ปัจจุบัน กับทางเลือกใหม่ของการเมือง (จบ)

28 ก.ค. 2565 | 00:57 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2565 | 08:04 น.
1.1 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

วีรบุรุษทางการเมือง นักต่อสู้เพื่อคนอีสาน

 

นอกจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่ม ส.ส.ทั้ง 4 ท่านที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอีก 2 นักการเมืองในยุคต่อมา ที่มีบทบาทโดดเด่น และเป็นผู้มีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ที่มีความมั่นคงแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และเป็นผู้ที่มีความยึดมั่นในการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร นั่นคือ นายแคล้ว นรปติ และ นายไขแสง สุกใส

 

นายแคล้ว นรปติ อดีต ส.ส.ขอนแก่น ติดต่อกันถึง8 สมัย และในปี 2543 เขายังได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดขอนแก่นอีกด้วย แคล้ว เกิดเมื่อวันที่1 กันยายน 2460 ที่จังหวัดชัยภูมิ เคยรับราชการครูอยู่ 7 ปี ที่โรงเรียนขอนแก่น และหลังจากจบการศึกษาธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นายแคล้วจึงได้ประกอบอาชีพทนายความที่ขอนแก่น (พ.ศ.2490) และต่อมายังได้รับปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

นายแคล้ว เริ่มเล่นการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2492 โดยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองขอนแก่น และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น(ส.จ.) ในปี 2492 จากนั้นเข้าสู่การเมืองระดับประเทศในปี 2495 โดยเป็น ส.ส.ขอนแก่น สมัยแรก (สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)

นายแคล้ว ถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดแน่วแน่ในแนวทางสังคมนิยม และเป็นนักการเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ จนได้รับการยกย่องให้ ปู่แคล้ว เป็นผู้ที่มีจิตใจรักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประกอบกับนักการเมืองท่านนี้ ได้เดินตามเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาชนคนอีสาน เดินตามรอย 4 อดีต ส.ส.อีสาน นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เตียง ศิริขันธ์ จำลอง ดาวเรือง และ ถวิล อุดล จึงทำให้นายแคล้ว เป็นนักการเมืองอีสานที่โดดเด่น และมีบทบาทสำคัญยิ่งในสภาฯ ตลอดสมัยที่เป็นผู้แทน

 

นายแคล้ว เป็นนักการเมืองที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ติดดิน สมถะ มีจริยธรรมเพียบพร้อม ไม่เคยใช้เงินซื้อเสียง ขณะเดียวกันเขาใช้วิธีการเดินหาเสียงเข้าหาประชาชน เข้าไปคลุกคลี หรือ สัมผัสกับวิถีชีวิตและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวอีสานแบบเข้าถึงตัว เขาจึงเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การแก้ไขปัญของคนอีสานอย่างเป็นรูปธรรม แคล้วไม่ทำธุรกิจการเมืองหรือการค้าหากำไร จะมีก็แต่เพียงการตั้งสำนักงานทนายความในเขตเทศบาลขอนแก่น เพื่อรับว่าความช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

เส้นทางการเมืองของ นายแคล้ว ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อปรากฏว่า ในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ก่อรัฐประหารครั้งที่ 2 แล้วปกครองด้วยระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมที่รวมถึง นายแคล้ว นรปติ ก็ตกเป็นเป้าหมายในการกวาดล้าง

 

แคล้วจึงถูกจับเข้าคุกโดยไม่มีความผิดเป็นเวลานานหลายปี

ต่อมาเมื่อปี 2511 เข้าสู่ยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร แคล้วได้ร่วมกับเพื่อน ส.ส.อีสานฟื้นฟูพรรคการเมืองขึ้นใหม่ จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่อำนาจเผด็จการจอมพลถนอม-ประภาส ถูกโค่นล้มลงด้วยพลังของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ในปี 2518 นายแคล้ว จึงได้ร่วมกับเพื่อน ส.ส.อีสาน จัดตั้งพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ดำเนินการต่อสู้ตามวิถีทางรัฐสภา เพื่อปกป้องและพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนผู้ยากไร้ อย่างมีพลังยิ่งในสภาผู้แทนราษฎร

 

นายแคล้ว นรปติ เป็นนักการเมืองอีสานคนหนึ่ง ที่ดำรงจุดยืนของตนและมีอุดมการณ์อันแน่วแน่ ในการต่อสู้เพื่อประชาชนและคนอีสาน ตราบจนสุดท้ายของชีวิต อย่างมีเกียรติและควรแก่การเคารพนับถืออย่างยิ่ง

 

อีกท่านหนึ่งที่ขอพูดถึง ณ ที่นี้คือ นายไขแสง สุกใส ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าราชบุตร อดีต ส.ส.จังหวัดนครพนม 3 สมัย ผู้ได้รับฉายาว่า "นักต่อสู้เพื่อคนจนจากลุ่มน้ำโขง" โดยเป็น ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 2512 ถือว่าเป็น ส.ส.ฝีปากกล้าคนหนึ่งในสภาฯ สมัยนั้น ไขแสง สุกใส เป็น ส.ส.ผู้กล้าอภิปรายเรียกร้องเพื่อคนทุกข์ยากและกล้าท้าทายต่ออำนาจเผด็จการทหารตลอดมาโดยมิเกรงกลัวในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจตนเองเมื่อปี 2514

 

ย้อนเวลาไปราว 40 ปี แถบลุ่มน้ำโขงนครพนม น้อยคนที่จะไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินกิตติศัพท์ในความเป็นคนกว้างขวาง ใจกว้าง และความมีน้ำใจของหนุ่มไขแสง เขาคลุกคลีคนระดับล่าง ดำรงชีวิตอยู่แถบภาคอีสาน เป็นผู้มีประวัติในการต่อสู้เพื่อคนทุกข์ยากมาอย่างยาวนาน นับแต่ยุค 4 รัฐมนตรีอีสาน เขาจึงเข้าใจความทุกข์ยากและการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนชนบทเป็นอย่างดี ภายใต้การบริหารของรัฐเผด็จการในอดีต และด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าว จึงทำให้ ไขแสง เป็นผู้นำและนักต่อสู้เพื่อประชาชนคนอีสานที่เข้มแข็งและกล้าหาญ

คนอีสานจากอดีต-ปัจจุบัน กับทางเลือกใหม่ของการเมือง (จบ)

ชีวิตของ ไขแสง เป็นชีวิตที่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เช่นเดียวกับ นายแคล้ว นรปติ โดยตลอดชีวิตของไขแสง มักเผชิญกับชะตากรรมอันไม่พึงปารถนา เขาถูกจับกุมเข้าคุกตะรางหลายครั้ง ในข้อหาหนักหน่วง นั่นคือ ข้อหาการเป็นคอมมิวนิสต์ เพียงเพราะสู้เพื่อคนจนกล้าท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการ เมื่อปี 2497 และครั้งที่ 2 ถูกจับกุมอีกครั้งหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2501 พร้อมการกวาดล้างกลุ่มนักศึกษาและประชาชนหัวก้าวหน้าคนอื่นๆ เช่น นายจิตร ภูมิศักดิ์ นายอิศรา อมันตกุล นายประวุฒิ ศรีมันตระ

 

เมื่อพ้นจากคดี ปี 2512 ไขแสง สุกใส ได้จัดตั้งสำนักงานทนายความธรรมรังสี ขึ้น และสถานที่แห่งนี้ ได้กลายเป็นที่รวมตัวและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบรรดานักคิด นักศึกษา และประชาชนหัวก้าวหน้า เพื่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในช่วงปี 2516-2517

 

นับว่า ไขแสง เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญร่วมกับแกนนำนักศึกษาอย่าง นายธีรยุทธ บุญมี, เสกสรรค์ประเสริฐกุล ,ชัยวัฒน์ สุรวิชัย,ประสาร มฤคพิทักษ์ และ บุคคลอื่นๆ ดังนั้น เมื่อกลุ่มแกนนำนักศึกษาจำนวน 12 คน โดนจับในข้อหากบฏทำลายความมั่นคงของประเทศ ขณะเดินแจกเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ท้องสนามหลวง

 

ไขแสง สุกใส แทนที่จะหลบหนีเอาตัวรอด เขากลับเดินถือแคนซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นอีสาน เข้ามอบตัวเพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขกับน้องๆ แกนนำนักศึกษาอย่างองอาจกล้าหาญ ทั้งที่การเข้าคุกอาจไม่มีโอกาสออกมาหรือโดนยิงเป้าก็ได้ในสถานการณ์ขณะนั้น แต่เพราะไขแสง เป็นผู้มีความคิดแน่วแน่ ยึดมั่นในอุดมการณ์และความถูกต้อง และเห็นความหมายอันยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย เขาจึงยืดอกต่อสู้โดยพร้อมเดินเข้าคุกอย่างมิเกรงกลัว มิได้คิดถึงชีวิตและความสุขส่วนตน

 

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไขแสง ต้องเผชิญชะตากรรมที่ลำบากอีกครั้ง เมื่อถูกทางการปราบปรามและล่าตัวจนต้องหลบหนีเข้าป่า พร้อมกับแกนนำนักศึกษาและปัญญาชนหัวก้าวหน้าคนอื่นๆ ในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกับนักศึกษา เช่น นายธีรยุทธ บุญมี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป จีรนันท์ พิตรปรีชา เป็นต้น

 

เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย ด้วยคำสั่ง 66/2523 ตามนโยบาย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไขแสงและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จึงกลับคืนสู่เมือง แต่เขาก็ยังคงมีจุดยืนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย และมีจิตใจที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชน ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ปี 2543 ไขแสง สุกใส ได้ถึงแก่กรรม การถึงแก่กรรมอย่างสงบของชายชรา ผู้ซึ่งดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายในบั้นปลายชีวิตอันไร้ฐานันดรศักดิ์ ๆ ในสังคม แต่เป็นผู้สร้างคุณงามความดีไว้มากมายให้แก่แผ่นดิน จึงควรที่คนอีสานจะได้รำลึกถึงคุณค่าและแบบอย่างอันกล้าหาญ ของชายคนอีสานผู้หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี

 

ตลอดชีวิตของไขแสง สุกใส เขาเป็นผู้หนึ่งที่ยึดมั่นในอุดมการณ์หรือหลักการดำเนินชีวิตที่สืบเนื่องถ่ายทอดกันมาในหมู่สังคมอีสานในรูปแบบผญา(ปรัชญา) อย่างมั่นคงและทะนง จึงนับว่าเป็นชีวิตที่เป็นแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่นหลังในทุกๆ ชนชั้น ได้ระลึกถึงในขณะที่ภาวะการณ์ของประเทศกำลังต้องการผู้นำนักการเมืองที่ดี เก่ง และมีคุณธรรม ความสามารถ มานำพาชาติบ้านเมืองของเรา ให้ก้าวพ้นวิกฤติและการฟื้นฟูประเทศ

 

ก่อนจบบทความนี้ จึงขอฝากผญา (ปรัชญา) ที่ นายไขแสง สุกใส มักจะกล่าวไว้ในที่ต่างๆ เสมอๆว่า "คันเจ้าได้ขี่ช้างกั้งห่มเป็นพญา อย่าสุลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า" หวังว่านักการเมืองไทย นักการเมืองอีสาน คงจะตระหนักและเข้าใจดีว่า ประเทศและประชาชนต้องการนักการเมืองเช่นใด มานำพาชาติบ้านเมืองของเรา และคนอีสานควรได้ตระหนักรู้ว่า เราควรเลือกคนเช่นใดมาเป็นผู้แทนประชาชน