นาคารชุน คือ ปราชญ์แห่งธรรม ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในประเทศอินเดีย
ตามประวัติของนาคารชุน ที่แปลเป็นภาษาจีนโดยพระกุมารชีวะเมื่อประมาณ ค.ศ. 405 ได้กล่าวว่า พระนาคารชุนะเป็นชาวอินเดียใต้ เกิดในสกุลพราหมณ์ จากการบันทึกโดยพระถังซำจั๋งระบุว่า ท่านเกิดในแคว้นโกศลภาคใต้, ท่านเป็นพระสหายที่มีอายุไล่เลี่ยกับพระเจ้ายัชญศรี เคาตมีบุตร (ค.ศ. 166-196) ประวัติในตอนต้นไม่แน่ชัด หลักฐานของทิเบตกล่าวว่าท่านออกบวชตั้งแต่วัยเด็กเนื่องจากมีผู้ทำนายว่าจะอายุสั้น บ้างก็ว่าในวัยเด็กมารดาของท่านได้รับคำทำนายว่าท่านนาคารชุนะจะไม่อาจมีบุตร ทางแก้คือต้องจัดพิธีเลี้ยงพราหมณ์ 100 คน ครอบครัวของท่านจึงต้องจัดพิธีดังกล่าว แต่หลังจากนั้นพราหมณ์ก็ยังทำนายว่าต้องจัดพิธีเช่นนี้อีกเนื่องจากยังไม่สิ้นเคราะห์ กระทั่งหลังจากที่มารดาทำพิธีเลี้ยงพราหมณ์เป็นครั้งที่สาม มารดาจึงตัดสินใจให้ท่านออกบวชขณะอายุยังไม่ครบ 7 ปี และให้ท่านออกจาริกแสวงบุญเพื่อแสวงหาผู้ที่สามารถช่วยชีวิตท่านให้รอดพ้นจากความตาย ท่านจาริกมาจนถึงนาลันทา ท่านได้พบกับท่านราหุลภัทระและได้รับการศึกษาที่นั่น
หลังจากอุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระไตรปิฎกจนจบภายใน 90 วัน มีความรอบรู้ในไตรเพทและศิลปศาสตร์นานาชนิด ประวัติท่านปรากฏเป็นตำนานเชิงอภินิหารในพุทธศาสนาสำนักต่างๆ จนยากจะหาข้อสรุป ตำนานเล่าว่าท่านได้ลงไปยังเมืองบาดาลเพื่ออัญเชิญคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาขึ้นมาจากนาคมนเทียร และเป็นผู้เปิดกรุพระธรรมเร้นลับของมนตรยานซึ่งพระวัชรสัตว์บรรจุใส่สถูปเหล็กไว้ ได้มีการอ้างว่าท่านพำนักอยู่ในสถานที่หลายแห่งของอินเดีย เช่น ศรีบรรพตในอินเดียภาคใต้ ในคัมภีร์ทิเบตกล่าวว่าท่านใช้เวลาช่วงหนึ่งอยู่ที่นาลันทาด้วย
งานเขียนของนาคารชุนะนั้น ถือเป็นพื้นฐานการกำเนิดสำนักมัธยมกะ ซึ่งมีการถ่ายทอดไปยังจีน โดยเรียกว่า สำนักสามคัมภีร์ ท่านได้รับการยกย่องนับถือในฐานะผู้สถาปนาแนวคิดปรัชญาปารมิตา และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยนาลันทา คัมภีร์สำคัญของท่านนาคารชุนะที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันได้แก่ มูลมัธยมกการิกา (มาธยมิกศาสตร์), ศูนยตาสัปตติ, ยุกติษัษฏิกา, วิครหวยาวรตนี, สุหฤลเลขะ, รัตนาวลี, ไวทัลยปรกรณะ ซึ่งล้วนเป็นการอรรถาธิบายพุทธพจน์ด้วยตรรกวิทยาอันเฉียบคม และหลักปรัชญาศูนยตวาท
หลักปรัชญาศูนยวาท เป็นหลักตรรกที่สนใจมาก ด้วยการสรุปความสั้นๆ ว่า ไม่มีอะไรกับอะไร เพราะทุกอย่างไม่มีมาอะไรมาให้ยึดถือได้เนื่องจากว่าทุกสรรพสิ่งนั้น เป็นเพียงมายา
นอกจากนี้แนวคิดนี้ ยิ่งเลยไปถึงที่ว่า ทุกพิธีกรรมเป็นเพียงอุบายให้อยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อความสงบสุข หาใช่มีผลอานิสงส์ใดๆ อยู่จริง
ในหลักธรรมน่าสนใจอย่างเหลือหลาย ตรงที่ว่า การปฏิบัติธรรม ยิ่งปฏิบัติยิ่งขวางธรรมอันยิ่งให้ปรากฏขึ้น เนื่องจากว่า เป็นเหมือนการกระทำของเรา (กรรม) ไปซ้อนธรรมอันยิ่งที่มีอยู่แล้ว เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า แม้ไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ (เกิด) ในโลกนี้ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่แล้ว ถ้ายิ่งไปสร้างอุบายอะไรมาเพื่อปรารถนาจะพบสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือธรรมขั้นสูงนั้น ก็ยิ่งไปบดบังธรรมนั้นไปอีก
แต่ถ้าสภาวะใจเราพร้อมที่ ไม่เอาทั้งความดี ความชั่ว ทั้งบุญทั้งกุศลและไม่ใช่บุญกุศล เราทิ้งออกไปให้หมดจากใจจริงๆ เราจะได้พบสิ่งที่มีอยู่แล้วที่เรียกว่า ธรรมะอันยิ่งนั้น
นี่เป็นคำสอนที่ทำให้น่าฉงน น่าขบคิดตาม ธรรมะมีอยู่แล้วยิ่งไปปฏิบัติยิ่งปิดบังธรรม
โดยเฉพาะพลังสมาธิที่นำพาไปสู่ความเป็นฌานนั้น เป็นพลังแห่งการพักผ่อนจิต มากกว่าการนำพาจิตไปพบจิตเดิมแท้ที่ใสบริสุทธิ์ไร้ความขุ่นมัวใดๆ
สรุปความได้ง่ายๆ ว่า.... ธรรมอันยิ่ง ธรรมอันสูงสุด หรือ นิพพาน นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ในใจของเราทุกคน เมื่อไหร่ที่ใจเราสลัดความเป็นคู่ ในความคิดในความรู้สึกออกได้อย่างแท้จริงตลอดเวลาทุกวินาที อาทิ สุขทุกข์ ดีชั่ว สูงต่ำ ชอบไม่ชอบ ฯลฯ ได้อย่างแท้จริงแล้ว เมื่อนั้นสภาวะแห่งพุทธะ หรือ ธรรมขั้นสูง (นิพพาน) จะปรากฏขึ้นในใจของเราเองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องไปนั่งภาวนา ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ ไม่ต้องไปสร้างวิธีการอะไรใดๆ ทั้งนั้น
นี่เป็นความท้าทายใน ปรัชญาธรรมแห่งศูนยวาท ถ้ามาเผยแผ่ในประเทศที่ยึดมั่นในคำสอนในคัมภีร์ ยึดมั่นในจารีตประเพณี คงจะวุ่นวาย แบบชนิด เถียงกันคอเป็นเอ็น แต่ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง ก็จะได้สัมผัสกับอีกมิติในการปรารถนาซึ่งธรรมอันอุดมไปด้วยธรรมแบบไร้เรื่องภายนอก
นักปฏิบัติธรรมที่คุ้นชินกับคัมภีร์ พึงขนขวายสิ่งภายนอกมาปลุกเร้าธรรมภายในให้ปรากฏ แต่ในสายของนาคารชุน ไม่ต้องพึงทำแบบนั้น