เรื่องฤกษ์ยามที่พระพุทธเจ้าทรงเตือน

13 ก.ค. 2566 | 03:30 น.
2.2 k

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ เรื่องฤกษ์ยามที่พระพุทธเจ้าทรงเตือน โดย ราชรามัญ

อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกา

“ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทำอะไรได้”

พระพุทธเจ้าตรัสคาถานี้กับใคร
ทำไมจึงตรัสสอนเช่นนี้มีเหตุใดเกิดขึ้น

การเรียนรู้ธรรมะ ต้องรู้รากที่มา
ไม่ใช่ฟังๆ มาก็ว่าไปเรื่อยแบบไม่รู้ราก

เพราะถ้าเราเชื่อตามนี้..ก็จะขัดกับคาถานี้ทันที

“กาลัญญุตา”
ผู้ฉลาดในฤกษ์ยาม

ตกลงให้เชื่อหรือไม่ให้เชื่อ หรือ ให้เชื่อแบบไหน

อันแรก เหตุคือ ชายหนุ่มจะไปแต่งงานกับสาวในเมืองสาวัตถี ทางบ้านผู้หญิงเตรียมจัดงานในวันรุ่งขึ้น

ฝ่ายชาย ไปถามนักบวชอาชีวก ว่าพรุ่งนี้ฤกษ์ดีไหม นักบวชอาชีวกโกรธ เหตุเพราะว่าไม่มาถามก่อน จึงบอกว่าพรุ่งนี้ฤกษ์ไม่ดี ใครไปแต่งงานจะมีแต่ความพินาศ ฝ่ายชายจึงไม่ไป

ฝ่ายผู้หญิงเตรียมงานไว้เรียบร้อย แต่ฝ่ายชายเบี้ยวไม่มา เพราะเชื่อในคำของนักบวชอาชีวก ครั้งอีกวันหนึ่งไปจึงเกิดการทะเลาะวิวาทกัน เพราะฝ่ายหญิงได้แต่งกับอีกคนหนึ่งไปแล้ว ความนี้ดังไปทั้งเมือง และพระภิกษุได้ยินจึงนำไปทูลถามพระพุทธเจ้า

พระองค์จึงตรัสมาตามคาถานั้น

“ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทำอะไรได้”

ท่านหมายความว่า เมื่อเห็นว่ามีความพร้อมที่จะพึงกระทำในสิ่งนั้น เพื่อการมงคลในยามเช้า ในยามเช้านั้นจึงถือว่าเป็นฤกษ์ดี ถ้าทำในยามบ่าย ก็ถือว่ายามบ่ายนั้นเป็นฤกษ์ดี เป็นต้น 

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามไม่ให้เชื่อเรื่องฤกษ์ยามและดวงดาว เพียงแต่ท่านต้องการสอนว่า 

“กาลัญญุตา”
ผู้ฉลาดในฤกษ์ยาม

เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วจึงไปสอนปัญจวัคคีย์ทั้ง 5

จะสอนพระเจ้าพิมพิสาร ต้องไปปราบชฏิลสามพี่น้องก่อน

จะไปโปรดพระมารดา ก็ต้องรอเข้าพรรษาก่อน

เป็นไปตามฤกษ์เหมาะสม

แม้แต่จะทรงดับขันธ์ปรินิพพาน

ก็ยังเลือกเวลา เลือกเมืองที่จะไปด้วย

ด้วยเนื้อแท้แล้วพระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามให้ผู้คนสนใจเรื่องฤกษ์ยามหรือเรื่องดวงดาว เพียงแต่มี 2 ระยะที่ปรากฏก็คือ ผู้ที่มาจากลัทธิอื่นที่เคยแหงนหน้ากิน หมายถึง นักพยากรณ์ทั้งหลาย เมื่อเข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้วควรเลิกการเลี้ยงชีพด้วยวิธีการเป็นนักทำนาย นี่ต่างหากที่พระพุทธองค์ทรงห้าม

อีกทั้งส่งให้สติกับผู้ที่หลงและงมงายเรื่องดวงชะตาราศีแบบชนิดเป็นบ้าเป็นหลัง ซึ่งตามหลักวิชาดวงดาวนั้นก็เป็นแค่เพียงเข็มทิศเล็กๆ ของชีวิต ไว้นำทางแต่มิได้เป็นทั้งหมดของชีวิต

เราต้องไม่ลืมว่าแม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังถูกพยากรณ์เป็น 2 ทาง คือถ้าเป็นฆราวาสก็จะเป็นมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเป็นนักบวชก็จะเป็นมหาศาสดาเอกของโลก ซึ่งคำทำนายนั้นก็เป็นจริง

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่าพระองค์ปฏิเสธเรื่องฤกษ์ยาม เรื่องดวงดาว หรือคำทำนาย ก็คงหาใช่เป็นเช่นนั้นไม่ เพียงแต่ทรงพยายามให้มีสติอยู่กับปัจจุบันและการใช้ชีวิตให้มาก และไม่ใช่หมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องดวงชะตาจนมากเกินไปนัก