ริ้วกระบวนเกียรติยศแห่โกศเวียนเมรุ

08 ก.ค. 2566 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2566 | 09:10 น.
865

คอลัมน์ Cat out of the box ริ้วกระบวนเกียรติยศแห่โกศเวียนเมรุ โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

การณ์อันว่าท่านผู้ใหญ่ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ในราชการแผ่นดินยามเมื่อถึงแก่อนิจกรรมลงแล้วไซร้ย่อมจักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเปนล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ด้วยได้มีพระมหากรุณาฯต่อศพท่านผู้นั้นหลายประการ อย่างที่เรียกกันว่า รับศพนั้นไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ แรกทีก็พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพ สุกำศพ ต่อมาพระราชทานพระพิธีธรรมมาสวดพระอภิธรรมให้ 3 วัน 7 วัน ถึงวันออกเมรุยังพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าไตรทอดถวายพระสงฆ์ในวันซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณอีก_พระราชทานเพลิงศพ
 
มาบัดนี้การศพท่านบิดาดำเนินการไปสำเร็จลุล่วง ปวงข้าพระพุทธเจ้า บุตรหลาน มารดา ขอพระราชทานกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเปนล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ จักเทอดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมไปตลอดกัลปาวสาน 
 
จังหวะว่าบรรดาท่านแขกผู้มีเกียรติมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านบิดาครานี้ อยากขอให้เล่าว่าใครเปนใครในการริ้วกระบวนเชิญโกศเวียนเมรุ เพราะดูพิธีซับซ้อนกว่าปกติมีความตระการตางามงด 

จึงได้เวลาขอบันทึกไว้เปนปูมจดหมายเหตุผ่านระบบคอลัมนิสต์ มา ณ โอกาสนี้
 
ตัดภาพมาในวันออกเมรุก่อน
 
เนื่องจากศพขุนนางผู้ใหญ่แต่ก่อนยามอนิจกรรมลงแล้วย่อมจะนั่งในโกศ ซึ่งแยกออกเปนโกศชั้นในอย่างที่เรียกว่าลองใน มักทำจากโลหะมีน้ำหนักมาก ส่วนโกศชั้นนอกเปนเครื่องเกียรติยศ มีรายละเอียดแยกไปตามฐานานุศักดิ์ เช่นในกรณีท่านบิดานี้เปนโกศแปดเหลี่ยม 
 
ทีนี้ว่าในยุคสมัยปัจจุบัน ประดาทายาทชอบที่จะให้ศพบุพการีนอนในโลงมากกว่า แล้วจึงตั้งโกศเปนเครื่องสำคัญเกียรติยศ ด้วยมีรายละเอียดในการทำศพมากมายหากจะให้ท่านนั่งโกศ เปนเรื่องต้องรบกวนเจ้าพนักงานมาก 

การณ์อันศพนอนโลงนี้ เมื่อถึงคราวออกเมรุ เจ้าพนักงานจะทำการ ‘ลักศพ’ ทั้งโลงออกไปยังเชิงตะกอนเสียก่อน 
 
โดยจะขออนุญาตเจ้าภาพในการปฏิบัติการลักศพนี้ ท่านทั้งหลายที่กรุณาทำหน้าที่ลักศพยกโลง สวมเครื่องแบบสีกากีแขนยาวคอพับ (สี สนว. ๐๑)  อีกกลุ่มหนึ่งแต่งโกศลองใน มัดฝาโกศเพื่อเตรียมเชิญขึ้นเสลี่ยงแทน
 
ทีนี้ก็ถึงเวลาจัดริ้วกระบวนเชิญโกศเวียนเมรุ
 
กระบวนนี้ปัจจุบันใช้คำว่าขบวน_ริ้วขบวน
 
คู่หน้าท่านจะมีเจ้าพนักงานนำริ้วก่อนเจ้าพนักงานนำริ้วแต่งกายคล้ายตำรวจหลวงยุคเก่า ท่านจะสวมโจงกระเบนผ้าม่วง เสื้อนอกขาวราชปะแตนกระดุมทองห้าเม็ดกระเป๋าอกทรงปีกค้างคาวติดแขนทุกข์ ประดับแพรแถบราชอิสริยาภรณ์ ส่วนตรงที่เอวจะคาดรัดประคตแดงดอกขาวสวมถุงเท้าขาว รองเท้าหนังสีดำ สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่สีดำยอดเกี้ยวตราครุฑ
 
(คำเจ้าพนักงานนั้นสมัยนี้เรียกเจ้าหน้าที่)
 
ถัดมาจึงเปนเจ้าพนักงานกลองชนะ ๑๐
 
กลองชนะนี้เปนอย่างไร? ก็คือเปนกลองขึงหนังน้ำหนักเบาใช้เข้าวงประโคมคู่กับปี่ไฉน กลองชนะมีหลายสีสำหรับบรรดาศักดิ์ต่างกันไป เริ่มจากสีเขียว ถัดไปสีแดง แล้วจึงมีกลองชนะเงิน กลองชนะทอง
 
ต่อจากกลองชนะ ก็ตามด้วยเจ้าพนักงานเชิญฉัตรเบญจาคู่หน้าสามคู่ คู่หลังสองคู่ อันว่าฉัตรเบญจานี้ก็คือฉัตรห้าสีใช้สำหรับเชิญตั้งหรือเชิญเข้าร่วมขบวนแห่ในงานศพของพระราชวงศ์ชั้น “หม่อมเจ้า” ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย หรือ ชั้นทุติจุลจอมเกล้าวิเศษ พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จและชั้นธรรม ขุนนางชั้นพระยา -พระยาพานทอง ยามจะตั้งประกอบเกียรติยศจะตั้งจำนวน 4 คัน
 
ชาวฉัตรเขาใส่แดงสวมหมวกหูกระต่ายแดงขลิบเหลือง เสื้อมัสรู กางเกงมัสรู รองเท้าหนังขัดเงาสีดำ ต่างจากชุดกลองชนะ ที่ชาวกลองใส่แดงเหมือนกันแต่สวมหมวกกลีบลำดวนขลิบเหลือง กางเกงใส่ปัสตูติดแถบเหลือง เสื้อก็ปัสตูติดแถบเหลือง
 
อันว่าเสื้อมัสรู หรือ เสื้อมิสหรู นี้ทางศิลปาชีพท่านเล่าว่าได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย(ปัจจุบันคืออิหร่าน) ตัดเย็บเปนเสื้อคอกลมผ่าอกตลอด แขนยาวปลายแขนบานออกเล็กน้อย ด้านนอกป้ายเฉียงลงมาหาชายเสื้อตอนล่างใช้เส้นไหมทอสอดผสมกับเส้นฝ้าย เรียกว่า“ต่วนด้ายยืน”
 
เหตุที่ต้องใช้เส้นไหมทอสอดผสมกับเส้นฝ้ายก็เพราะต้องการให้ส่วนที่เปนไหมลอยตัวขึ้นมาอยู่ที่ผิวหน้า และส่วนที่เปนฝ้ายจะอยู่ด้านหลังของผ้า


 
เพื่อเลี่ยงบทบัญญัติในศาสนาฝ่ายนั้น
 
ที่ห้ามผู้ชายมุสลิมนุ่งห่มเนื้อตัวสัมผัสผ้าไหม
 
ต่อมาก็คือเจ้าพนักงานหามเสลี่ยงนิมนต์พระสงฆ์
 
ทรงสมณศักดิ์ขึ้นเสลี่ยงอ่านพระธรรม เจ้าพนักงานนิมนต์พระครูวิสาลสรธรรมในการนี้ ทีมหามเสลี่ยงสวมหมวกหูกระต่ายสีขาบขลิบเหลือง เสื้อขาวแขนกระบอกคอปิดไม่มีกระเป๋าหน้าอก กางเกงลายวิลาสสีขาบ
 
ชุดกั้นสัปทน จะกั้นสัปทนผ้าตาดแดงให้โกศและพระสงฆ์บนเสลี่ยง ปวงเขาแต่งผ้าม่วงเหมือนเจ้าพนักงานนำริ้ว แต่ไม่สวมหมวกและไม่รัดประคต ทำหน้าที่กั้นแดดมิให้ต้องโกศศพและพระสงฆ์
 
ทีนี้จ่าปี่ซึ่งบังคับการทีมพนักงานกลองชนะ ประโคม ท่านจะสวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดจุกเสื้อเข้มขาบไหม กางเกงมัสรูไหม คาดเข็มขัดแถบทองหัวครุฑรองเท้าหนังสีดำ เช่นเคย
 
เมื่อเข้ากระบวนแล้ว เรียงลำดับว่า

จ่าปี่สองนายเดินตาม ผู้นำริ้วกระบวน ขนาบข้างด้วยพลกลองชนะทั้งสิบ

ตามด้วยทีมเชิญฉัตรเบญจาสามคู่ เสลี่ยงพระ ชุดกั้นสัปทน และทีมประคองพระคู่หนึ่งสวมชุดสีกากีคอพับแขนยาว การณ์อันจ่าปี่ต้องมีสองนายก็เพราะไว้กันผิดพลาด หากปี่หนึ่งเสียกะทันหัน ปี่สองจะสรวมเข้าทำการทันที เปนดังนี้มาแต่โบราณ
 
ถัดมาจึงเปนเสลี่ยงโกศ เจ้าหน้าที่หามแปดนายแต่งชุดขาวแขนกระบอกหมวกหูกระต่าย และมี เจ้าหน้าที่เชิญโกศสี่นายแวดล้อมในเครื่องแบบปกติขาวอินทรธนู ไว้ทุกข์ พร้อมด้วยสัปทนอีกหนึ่งท่าน
 
ปิดท้ายด้วยชาวฉัตรเชิญฉัตรเบญจาสองคู่
 
ตามขบวนด้วย ทายาทผู้ใหญ่เชิญเครื่องทองน้อย
 
และคณะทายาทเชิญดวงตราและสายสะพายผู้วายชนม์ ตามด้วยลูกหลาน/ผู้มีเกียรติในเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ เมื่อเริ่มเดินจ่าปี่ก็จะเริ่มเป่าปี่ไฉน เพลงพญาโศกลอยลม ซึ่งมีทำนองโหยหวนคล้ายเสียงคนกำลังร้องไห้สะอึกสะอื้น งานเพลงของจ่าปีนี้มีมาแต่โบราณเปนการสืบทอด tacit knowledge โดยเฉพาะจากรุ่นสู่รุ่น ไม่มีตัวโน๊ตดนตรีบันทึกไว้ การสอนจะสอนโดยใช้การ “ต่อ” คือบอกและให้จ่าปี่ใหม่จำ ส่วนทำนองและจังหวะก็จะให้จ่าปี่แต่ละคนเปนผู้เลือกเองว่าจะให้ช้าหรือ เร็ว จึงเปนเพลงบรรเลงท่ีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจ่าปี่แต่ละคน ส่วนกลองชนะ ๑๐ ผู้เปนจ่ากลองก็จะตีนำต้นเสียง ตามจังหวะท่ีตี “สามไม้หนี สี่ไม้ไล่” คือผู้เปนจ่ากลอง ตีกลอง ๓ ครั้ง แล้วส่วนท่ีเหลือก็จะตีพร้อมกัน ๔ ครั้ง (ตรึ่มๆๆ/ ตรึ่มๆๆๆ) นับเป็นหน่ึงจังหวะ ตีไปโดยตลอดจนเวียนเมรุครบ ๓ รอบ ริ้วขบวนกลองชนะและฉัตรเบญจาก็จะตั้งแถวด้านหน้าเมรุและจะประโคมไปจนกว่า เจ้าหน้าท่ีเชิญโกศลองในขึ้นต้ังบนจิตกาธาน
 
เรียบร้อยจึงหยุด เสียงกลองชนะนี้จะกระทุ้งใจผู้คนมาก ยิ่งดังพร้อมปี่โศกแล้วล่ะก็
 
ในเวลาเดียวกันนี้เนื่องจากท่านบิดาเปนนายทหารผู้ใหญ่ กองทัพบกได้จัดกองทหารเกียรติยศหนึ่งร้อย มาเคารพศพและประกอบพิธีเป่าแตรนอนตามประเพณีทหาร
 
การพิธีจึงต้องซ้อนกันอย่างฝรั่งเรียกว่า intersect 
 
ภาษาโบราณก็ว่าพิธีศพขุนนางพลเรือนไม่มี มีเฉพาะพิธีศพทหาร_พลรบ 


 
ซึ่งในสถานการณ์นี้จะมีเรื่องพิเศษเสริมขึ้นมาจากพิธีพระราชทานเพลิงปกติ คือ จะต้องมีกรวยกระทงข้าวตอก กรวยกระทงดอกไม้ขอขมา ณ โกศศพก่อนกองทหารเกียรติยศจึงปฏิบัติหน้าที่ได้
 
ภาพนี้กองเกียรติยศหนึ่งกองร้อย แต่งเครื่องแบบฝึกสวมถุงมือพันผ้าพันคอสีน้ำเงินอ่อน จ่านายสิบขึ้นไปคาดกระบี่ถือปืนเล็กล้วน มีพลแตรเดี่ยว แตรวง เข้าแถวเข้มแข็งรายรอบเมรุ
 
ผบ.กองทหารเกียรติยศ นำกองทหารเกียรติยศเข้าประจำที่แล้วสั่งแถวเรียบอาวุธ กองทหารเกียรติยศหันเข้าหาโกศศพ ผบ.กองทหารเกียรติยศสั่งติดดาบ ทั้งหมดยืนรอเวลาจนกว่าอนุศาสนาจารย์อ่านประกาศเกียรติคุณผู้วายชนม์เรียบร้อย ประธานในพิธีฯ ได้ทอดผ้าไตรพระราชทาน 5 ไตร  พระสงฆ์ราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นพิจารณาผ้า 
 
อนึ่งว่าในการอย่างนี้ ประธานสงฆ์จะรับพิจารณาผ้าไตรพระราชทานต้องมีสมณศักดิ์ที่พระราชาคณะ และต้องถือพัดยศสมณศักดิ์มาเปนการเฉพาะด้วย
 
พระราชกิตติมงคล วิ. เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีฝ่ายธรรมยุต ท่านรับนิมนต์ในการนี้ คณะสงฆ์ทรงสมณศักดิ์อ่านจากพัดยศประกอบด้วย
 
พัดขาวพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระเดชพระคุณพระราชกิตติมงคล วิ.
 
พัดหน้านางเหลืองพระมหาเปรียญ ๖ ประโยค หนึ่งรูป
 
พัดพุดตานเขียวเนื้อแดง คือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ หนึ่งรูป
 
พัดหน้านางแดงพระมหาเปรียญ ๓ ประโยค หนึ่งรูป
 
พัดพระครูคู่สวด พุดตานเหลือง อีกหนึ่งรูป
 
เจ้าภาพได้รับเกียรติจาก ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เปนประธานในพิธี ทำหน้าที่เปนผู้วางกระทงข้าวตอกดอกไม้ดังกล่าว เมื่อวางกระทงข้าวตอกดอกไม้ ผบ.กองทหารเกียรติยศ สั่งกองทหารเกียรติยศแถวตรง แตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน ๑จบ
 
จบแล้วประธานฯ หยิบธูปเทียนดอกไม้จันทน์จากเจ้าพนักงาน จุดเพลิงพระราชทานจากโคมไฟที่เจ้าพนักงานพระราชทานถือเชิญไปสอดวางลงในใต้พื้นรองโกศ 
 
ผบ.กองทหารเกียรติยศ  สั่งให้กองทหารเกียรติยศแสดงความเคารพ ว่า
“ตรงหน้า ระวัง วันทยาวุธ “ 
 
แตรเดี่ยวเป่าเพลงคำนับ ๑ จบ สั่งเรียบอาวุธ_ปลดดาบ วงดุริยางค์ บรรเลงเพลงโศก ๑ จบ และสั่งให้กองทหารเกียรติยศทำช้าย
 
หันแบกอาวุธ ออกจากบริเวณงาน จึงเสร็จการปฏิบัติ
 
อันว่าแตรนอนนี้ก็เปนธรรมเนียมในหมู่ทหารสืบต่อกันมาช้านาน ปกติเป่าทุกวันในค่ายทหารบอกเวลาเข้านอนแทนนาฬิกาปลุก และหากเมื่อทหารนายใดสิ้นชีวิตไปทอดร่างนอนลงแล้วก็เปนอาณัติสัญญาณขับกล่อมบรรเลงให้ Rest In Peace
 
ว่ากันว่าดวงจิตที่หลุดลอยของเหล่าทหารหาญเมื่อได้ฟังเสียงแตรนอนอันคุ้นเคยที่บรรเลงทอดเอื่อยเนิ่นช้า ก็จะหยุดพะวักพะวงต่อการศึกสงครามที่ติดพัน กลับสงบราบเรียบลงพลันในความได้พักรบสงบดวงใจ
 
ขอบคุณภาพสวยงามจากการพระราชทานเพลิงศพ พลเอกสถาพร เกียรติภิญโญ ม.ว.ม., ป.ช. อดีตราชองครักษ์พิเศษ อดีตหัวหน้าสำนักตุลาการทหารและตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,903 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566