ช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้สูงอายุ

08 ก.ค. 2566 | 04:04 น.
962

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา ช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้สูงอายุ โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์นี้ผมเอาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้สูงวัยในช่วงหนึ่งของชีวิต ที่บางครั้งเราอาจจะไม่เข้าใจ หรือเกิดการสร้างความไม่สบายใจให้แก่ลูกหลาน หรือคนดูแลได้ มาขั้นจังหวะที่เขียนเรื่องของโยคะสักหนึ่งครั้งก่อนนะครับ เพราะผมแก่แล้ว เดี๋ยวลืม เลยต้องขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟังก่อนที่จะลืมครับ 

เรื่องนี้เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องจริงในสถานบ้านพักคนวัยเกษียณของผม พอเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ผมจึงได้ไปค้นคว้าหาอ่านผลงานวิจัยฯ ของหลายๆ ท่าน แล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจมาก เลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
       
ผู้สูงวัยทุกคนที่ต้องหลีกหนีไม่พ้น (หากยังมีชีวิตอยู่ถึงวัยนั้น) นั่นก็คือช่วงวัยทอง (Golden Age) ของผู้สูงวัยทุกคน ไม่เว้นเพศหญิงหรือชาย ทุกคนก็จะต้องผ่านวัยทองด้วยกันทุกคน เพียงแต่บางคนอาจจะมาเร็วหรือช้าไม่เท่ากัน การแสดงออกของอาการวัยทองก็จะแตกต่างกันออกไป 

ถ้าเป็นเพศหญิงก็จะเป็นช่วงการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (Menopause) สาเหตุเกิดจากรังไข่ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen and Progesterone) หยุดการทำงานลง จะพบได้ในสตรีที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 48-52 ปี สามารถสังเกตอาการที่เข้าข่ายวัยทองได้ 

จากมีอาการร้อนวูบวาบ บริเวณช่วงคอ อก และบริเวณใบหน้า ซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์หงุดหงิด ผิวพรรณเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น อาการกระดูกพรุน ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ หรือมีปัสสาวะเล็ดบ่อยๆ หรือมีอาการปวดศีรษะ ปวดตามข้อ อ่อนเพลียเป็นประจำ เป็นต้น 

นี่คืออาการเบื้องต้นของการเข้าสู่วัยทองของสุภาพสตรี ส่วนสาเหตุหลักในการเกิดอาการ ก็มาจากฮอร์โมนภายในร่างกายของเราเป็นตัวกำหนด โดยในส่วนของเพศหญิงฮอร์โมน ที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่สำหรับผู้ชายฮอร์โมนที่ส่งผลต่อวัยทอง คือฮอร์โมนที่ชื่อว่า “เทสตรอสโตน หรือ Testosterone” 

ซึ่งสร้างจากฮอร์โมนเพศชายที่มีปริมาณมากที่สุดในช่วงอายุ 20 ต้นๆ และจะลดลงอย่างช้าๆ เมื่ออายุมากขึ้นหลัง 40 ปี ฮอร์โมนก็จะลดลงเรื่อยๆ และการลดลงของฮอร์โมนนี่เอง ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของผู้ชายเรา จึงส่งผลให้เกิด “ผู้ชายวัยทอง” ขึ้นนั่นเองครับ 

อาการวัยทองของผู้ชาย จะมีการแสดงออกได้ทั้งอาการทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ ด้านร่างกายก็จะมีอาการร่างกายอ่อนเพลีย เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อต่างๆ ลดขนาดลง ไม่มีแรง 

ส่วนอาการทางด้านจิตใจ จะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำอะไร เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไป เศร้า เหงา เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขี้บ่นมากขึ้น ขี้น้อยใจเพิ่มขึ้น ไม่อยากไปไหน อยากอยู่คนเดียว นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น การขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น สมรรถภาพและความต้องการทางเพศลดลง หรือไม่มีอารมณ์ทางเพศ 

ซึ่งถ้าอาการหนักขึ้น ก็อาจจะเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากฮอร์โมนเพศชาย เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ เมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงทำให้ไม่มีการเกิดอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์และอวัยวะไม่แข็งตัว กระดูกและกล้ามเนื้อ ผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย 

ก็คล้ายๆ กับอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนนั่นแหละครับ นอกจากนี้กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลดขนาดลง มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง นี่คืออาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของมนุษย์ในช่วงเปลี่ยนผ่านครับ 
        
ช่วงหนึ่งที่หากเราโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ถึง ช่วงนั้นก็คือช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป จะต้องมีช่วงเวลาหนึ่งที่มีอาการคล้ายๆ กับช่วงวัยทองดังที่ผมเล่ามาแล้วข้างต้น แต่ครั้งนี้อาจจะมีอาการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ มากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย เพราะร่างกายเราเมื่ออายุปูนนั้นแล้ว ก็คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากแล้วละครับ 

การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ผู้สูงวัยที่มีอายุมากตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป เราจะต้องสังเกตอาการของผู้สูงวัยเหล่านั้น ว่ามีการผิดปกติหรือไม่ เช่น 1, อาการหลงเวลา อาการเช่นกลางคืนก็มักจะตื่นกลางดึก แล้วคิดว่าฟ้าสว่างแล้ว จะมีการเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้า-อาบน้ำกลางดึก อาการเช่นนี้ แสดงว่าท่านหลงเวลาเสียแล้ว 

เริ่มมีอาการสมองสั่งการผิดปกติ ซึ่งอาการเช่นนี้ ก็หมายความว่าเข้าใกล้อัลไซเมอร์เข้าไปทุกทีเสียแล้ว 2,การอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย โกรธโดยไม่มีสาเหตุ นี่คืออาการผิดปกติทางอารมณ์ ใครทำอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ ทั้งๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ก็คิดว่าไม่ใช่อยู่นั่นเอง 3, อาการหวงสมบัติ หรือสิ่งของโดยไม่มีเหตุผล บางครั้งให้ของหรือสมบัติของตนเองไป ก็ลืมว่าเคยให้ไปแล้ว จะขอทวงคืน 

หรือบางครั้งก็จะมโนไปเองว่า คนนั้นหรือคนนี้จะมาขโมยสิ่งของไป ทั้งๆ ที่ของชิ้นนั้นไม่ได้มีค่าเท่าที่จะให้ใครเขาอยากจะขโมย นี่ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในวัยนี้ 4, อาการขี้น้อยใจ ใครพูดอะไรหรือทำอะไรให้ ก็จะคิดมากน้อยใจ คิดหรือตีความไปในทางด้านลบเสมอ ไม่พอใจโน้นนี่นั่น คิดเล็กคิดน้อยเสมอ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อนเลย นี่ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่อันตรายของผู้สูงวัยครับ 
        
การเปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัยในช่วงนี้ จะเป็นการยากและสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้ใกล้ชิดหรือลูกหลานเป็นอย่างมาก บางครั้งลูกหลานไม่เข้าใจ ว่านี่คือเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ชราทุกคนจะต้องเผชิญ ก็จะลำบากและมีปัญหาตลอดเวลา ดังนั้นเด็กๆ และลูกหลาน จำเป็นจะต้องเข้าใจผู้สูงวัยเหล่านั้น และรู้จักโอนอ่อนผ่อนปรน และมองว่านั่นคือหนึ่งในอาการที่ผู้สูงวัยจะต้องมีด้วยกันทุกคน จึงจะไม่ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันภายในครอบครัวครับ