คำพูดแบบไหนผิดศีล

20 ต.ค. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2565 | 07:30 น.
2.4 k

ทำมาธรรมะ​ โดย​ ราชรามัญ

ในบรรดาข้อปฏิบัติของชาวพุทธ โดยเฉพาะคนธรรมดาทั่วไป หรือที่เรียกว่าคฤหัสถ์

 

สิ่งที่เรียกว่าศีล 5 ข้อที่เราหลายคนผิดพลาดมากที่สุด หรืออาจจะกล่าวว่าล่วงละเมิดมากที่สุด ได้แก่ ศีลข้อที่ 4

 

โดยเนื้อหาใจความก็คือ​ มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

 

ซึ่งหลายคนมีความเข้าใจว่า คำจำกัดความของศีลข้อนี้ก็คือ ห้ามพูดเท็จหรือพูดคำไม่จริง

 

บางครั้งเราก็ไปปรามาสผู้อื่นที่เรามองว่าเขามักจะเป็นนักพูดเท็จ อย่างเช่น​ นักการเมือง​ นักแสดง​ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว บางครั้งเรานี่แหละผิดศีลข้อ 4 โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่บางคนก็บอกว่า ฉันไม่เคยพูดเท็จ ฉันพูดแต่ความจริง นั่นก็เป็นมุมมองแบบแคบๆ ของคนที่รู้แค่นั้น

เพราะตามความหมาย ถ้าเราได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีปรากฏชัดเจน มุสาวาทา เขามิได้หมายถึงแค่เพียงการพูดโกหก พูดคำไม่จริง แต่เขารวมไปถึงการพูดที่ส่อเสียด เพ้อเจ้อ และหยาบคายรวมอยู่ด้วย

 

ดังนั้น จึงได้บอกว่าบางครั้งเนี่ยเราละเมิดศีลข้อ 4 โดยที่เราไม่รู้สึกตัว แต่เราก็คอยเพ่งโทษจับผิดผู้อื่นที่ไม่พูดความจริง แต่ในมุมกลับกัน วันทั้งวันเรากลับพูดส่อเสียดผู้อื่น หรือพูดแบบใช้คำหยาบ หรือพูดคำเพ้อเจ้อ เพื่อให้เกิดเฮฮา ซึ่งเหล่านั้น​ ล้วนผิดศีลข้อ 4 ทั้งสิ้น​

 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทรงตระหนักและเน้นสอนในเรื่องของศีล 5 อย่างมาก เพราะว่าคือการสำรวมทั้งกาย ทั้งวาจา และก็ใจ

 

ดังนั้น เรื่องของวาจา ไม่ใช่มีแค่เพียงคำโกหกอย่างเดียว ถ้าเกิดเราสามารถสงบจิตใจ ไม่เพ้อเจ้อ ไม่ส่อเสียด ไม่หยาบคายได้ด้วยจะเป็นการรักษาศีลข้อ 4 ได้อย่างสมบูรณ์

แล้วถ้าหากเราลองมาพิจารณาดู ผู้คนทั้งหลายที่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันจำนวนไม่น้อย เกิดขึ้นจากการสื่อสาร​ การเลือกใช้คำพูดคำจา เป็นปฐมเหตุทั้งสิ้น

 

แต่ก็เคยมีผู้คนสงสัยว่า การที่ใครสักคนหนึ่งอาจจะเป็นนักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ ที่เขานิยมพูดความจริงครึ่งเดียว จะถือได้ว่าเขาผิดศีลได้หรือไม่ ถ้าแปลกันแบบตรงไป ตรงมา อาจจะกล่าวได้ว่าเขาไม่ได้มุสาแต่อย่างใด เพราะเขาพูดความจริงแต่เป็นความจริงที่พูดไม่หมด​

 

แต่ก็จะเชื่อมโยงไปถึงภาวะจิตใจของเขา ซึ่งเขารู้อยู่แก่ใจว่าเขาได้พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว เรื่องประเด็นศีลเขาอาจรอดไปแต่มโนกรรมในใจย่อมเกิดขึ้น อันนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

 

อย่างนั้น การรักษาศีลใครที่สามารถรักษาให้บริสุทธิ์หมดจดได้ จึงเป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าเทพเทวดา และมนุษย์ก็ด้วยเหตุนี้เอง