ผู้สูงอายุย่อมไม่เป็นภาระของสังคม

17 ก.ย. 2565 | 03:05 น.
1.3 k

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเขียนเรื่องผลพวงที่ตามมาของการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคนานาชนิด ได้มีแฟนคลับท่านหนึ่ง ที่เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งท่านได้เกษียณอายุราชการไปเมื่อปีที่ผ่านมา ท่านได้เขียนข้อความน้อยส่งมาให้ผมว่า “เรื่องผู้สูงอายุมีแต่เรื่องเศร้า เป็นภาระของสังคม ถ้าปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ผู้สูงอายุในมิติใหม่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ที่ผู้สูงอายุสามารถเป็นกำลังสำคัญได้ ก็จะมีคุณค่ามากๆ”  


ท่านจึงอยากเห็นภาพนี้มาก ซึ่งต้องบอกว่าแน่นอนครับว่า วันนี้อายุของประชากรของประเทศไทยเฉลี่ยอายุขัยอยู่ที่ 77 ปี ยืนยาวกว่าในอดีตมาก ในอดีตเราอาจจะเห็นคนที่มีอายุ 50-60 ปี ก็มีความรู้สึกว่าแก่มากแล้ว แต่ปัจจุบันนี้คนอายุ 70-80 ปียังทำงานได้อย่างสบาย บางครั้งเราได้รับฟังการบรรยายภาพหรือข่าวทางหน้าสื่อต่างๆ ถึงข่าวสังคมว่า “คุณลุงอายุ 55 ปีได้รับอุบัติเหตุ.....” หรือ “คุณยายอายุ 60 ปี......”

ผมเป็นคนหนึ่งละที่รับฟังแล้วค่อนข้างขัดหูขัดใจมาก เพราะคนอายุ 50-60 ปี ยังไม่น่าจะมีสภาพเป็นคุณลุง-คุณป้า หรือเป็นคุณตา-คุณยายเลยนะครับ เพราะคนอายุเพียงเท่านี้ น่าจะเป็นคุณพี่มากกว่า ....ฮา เพราะเขายังมีไฟแรงอยู่เลยครับ
       


ในยุคปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุทั่วไป มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงกว่าอดีตมาก ด้วยสังคมไทยเราเข้าสู่ประเทศที่อยู่ในช่วงท้ายๆ ของประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว การสาธารณสุขและการแพทย์ก็มีการพัฒนาดีกว่าเดิมเยอะ ประชาชนก็อยู่ดีมีสุขกว่าเดิมมาก เป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาประเทศทั่วไป 

ดังนั้นเราจะเห็นว่าคนที่เกษียณอายุ 60 ปีไปแล้ว ยังมีกำลังวังชาในการทำงานได้ดีมากๆ ก็มีอีกเยอะมาก เพื่อนๆ พี่ๆ ผมบางท่าน ที่ท่านเกษียณอายุไปแล้ว ถ้าเกษียณจากงานราชการ ผมก็มิบังอาจก้าวล่วง เพราะบางท่านอาจจะอยากพักผ่อน แต่ก็อดที่จะคิดเสียดายความสามารถของท่านไม่ได้  


ผมคุ้นเคยกับท่านอธิบดีกรมๆหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผมเคารพรักและชื่นชมความสามารถของท่านมาก พอท่านเกษียณอายุราชการ ผมเห็นท่านยังแข็งแรงและมีไฟแรงมากๆ ผมก็เรียนท่านไปว่า เสียดายความสามารถของท่านมาก ท่านยังทำงานรับใช้ประเทศชาติได้อีกเยอะ ท่านก็ตอบผมว่า ท่านเองก็อยากทำงานต่อนะ แต่ด้วยอายุราชการมีกำหนดไว้เช่นนั้น เขาก็ไม่สามารถต่ออายุราชการให้ท่านได้ ก็เป็นที่น่าเสียดายเช่นกัน
   

อีกท่านหนึ่งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่ผมเคยเป็นทั้งลูกศิษย์และเคยสอนวิชาคู่กับท่านมาก่อน และก่อนที่ท่านจะครบอายุราชการ ท่านก็ทำเรื่องขอต่ออายุราชการได้หนึ่งครั้ง แต่พอครบครั้งต่อมา ก็ไม่สามารถต่ออายุราชการได้อีก ใจของท่านก็อยากจะสอนหนังสือต่อ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อไป แต่ก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะผิดกฏระเบียบ ทั้งๆ ที่ท่านยังแข็งแรงมากๆ มีความรู้มากๆ ด้วย ท่านก็ทำได้เพียงเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่สถาบันต่างๆ เท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายมากๆ แต่ก็ยังดีกว่าสายงานอื่นๆ ที่เป็นได้เพียงที่ปรึกษาบริษัทเอกชนเท่านั้นครับ
      

แน่นอนว่าก็มีหลายอาชีพที่เมื่อเกษียณอายุแล้ว ยังสามารถทำงานต่อไปได้อีก เช่นอาชีพแพทย์ วิศวกร เป็นต้น แต่ก็อีกอาชีพที่น่าเสียดายที่ต้องเกษียณหลังอายุครบวัยเกษียณ เพราะไม่ค่อยมีคนอยากจ้างทำงานต่อ คืออาชีพนักการตลาด เพราะจะว่าไปแล้วคนที่ทำการตลาดเก่งๆ ไม่ใช่จะต้องมีปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ยังมีปัจจัยทางด้านความสัมพันธ์กับคู่ค้า ความเข้าใจในวัฒนธรรม-จริยธรรมทางการตลาด ที่จะต้องนำมาใช้เพื่อเป็นจุดแข็งของการทำการตลาดด้วย 


ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่รู้กันว่า เซลส์รุ่นใหม่ๆ จะมีจุดแข็งทางด้านไอทีหรือคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีจุดอ่อนที่การสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า หากรุ่นเก่าผ่านไป โดยไม่ได้ทิ้งไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้แก่คนรุ่นหลังๆ ให้เขาได้ดำเนินรอยตาม ก็เป็นที่น่าเสียดายยิ่งครับ
   

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอาชีพ ที่เป็นอาชีพงานที่ใช้ฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงาน ที่คนรุ่นเก่าได้มีประสบการณ์มาอย่างโชกโชน หากเรามองว่าเขาเป็นเพียงแค่ตำนาน แต่ไม่ได้เก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ของเขา ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง นำมาเป็นแนวทางในการเดินหน้า ด้วยการผสมผสานใหม่เก่า ย่อมยิ่งต้องต่อสู้กับตลาดโลกที่แปรเปลี่ยนไป หรือคนรุ่นใหม่มองเห็นแต่ระบบๆๆๆ เท่านั้น ผมคิดว่าเราจะต้องให้เขาได้ต่อสู้กับตลาดแต่เพียงลำพัง โดยละทิ้งอดีตที่เคยประสบผลสำเร็จของคนรุ่นเก่าไป ย่อมทำให้คนรุ่นใหม่ยากที่จะประสบผลสำเร็จได้ 
          

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้เชื่อได้ว่า การที่อาศัยผู้สูงอายุที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน ถ้าเราไม่คิดว่าเขาเป็นเพียงภาระของสังคม แต่เป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วให้เขาได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่คนรุ่นหลัง ย่อมเป็นแรงจูงใจให้แก่คนรุ่นใหม่ได้ดี อีกทั้งยังเกิดควมภาคภูมิใจแก่ผู้สูงวัยเหล่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ย่อมน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมได้นะครับ