วันที่จากไปอย่างมีความสุข

13 ส.ค. 2565 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2566 | 10:37 น.
2.1 k

วันที่จากไปอย่างมีความสุข คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

วันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปพัทยา เพื่อไปดูกิจการของเพื่อนรุ่นน้องท่านหนึ่ง ที่ทำกิจการโรงแรมอยู่ที่นั่น ปรากฏว่าหลังที่เจ้าวายร้ายโควิด-19 เข้ามาสู่ประเทศเรา ก็ส่งผลกระทบต่อกิจการโรงแรมทันที เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ สนามบินทุกแห่งถูกปิดโดยสิ้นเชิง ธุรกิจนี้ก็จบลงอย่างน่าใจหายครับ 


การไปพัทยาครั้งนี้ กลุ่มผมเดินทางไปกันทั้งหมดสี่ท่าน ล้วนแล้วแต่อยู่ในวัยใกล้ที่จะต้องเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging society)ด้วยกันทั้งหมด ดังนั้นเรื่องราวที่พวกเราคุยกันในรถ จึงเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นเรื่องของชีวิตบั้นปลายแน่นอน พวกเราคุยกันอย่างออกรสชาติสนุกมากครับ ผมจึงอยากนำมาเล่าให้ฟังกันครับ

เราเปิดประเด็นกันถึงเรื่องโรคอัลไซเมอร์ ที่คุณจินตนาเพื่อนอนุบาลลูกหมีของผมเล่าให้ฟังว่า โรคนี้มักจะสืบทอดมรดกที่ลูกหลานไม่อยากจะได้ จากยีนพันธุกรรม(Genetic gene’s) ซึ่งมักจะเป็นพันธุกรรมสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่จะแสดงผลก็ต่อเมื่ออายุเริ่มต้นจาก 58 ปีไปแล้ว 


ดังนั้น ถ้าใครที่มีบิดา-มารดา ที่มีอาการอัลไซเมอร์ ก็ควรจะต้องระมัดระวังตัวไว้ แต่ถ้าหากมีการได้รับการป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ดี ก็สามารถชะลอการเกิดอาการอัลไซเมอร์ได้ (แค่ชะลอให้เป็นช้าลงนะครับ) เช่นการทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นก็หาอ่านดูได้จากหนังสือหรือนิตยสารเกี่ยวกับการแพทย์ต่างๆ ที่มีการเขียนโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ จะมีให้อ่านเยอะมาก หรือถ้าไม่รู้จะหาอ่านที่ไหน? ก็ลองถามเจ้กู (Google)ดูก็ได้ครับ

เพื่อนอีกท่านหนึ่งคือคุณป๊อกก็พูดขึ้นมาว่า หลังจากที่ได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนก่อน ได้ไปเยี่ยมชมสถานพักฟื้นคนชรามา ได้พบเห็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เข้ามาทักทาย มีบางเรื่องที่ไม่สามารถเล่าในที่นี้ได้ แต่ก็เป็นที่น่าสงสารมาก จึงตั้งปณิธานไว้ว่า ถ้าตนเองแก่ตัวลง จะไม่อยากเป็นโรคนี้เลย เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยพูดหรือแสดงออกลงไป  


ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้สึกตัวนั้น คนที่ได้รับฟังหรือเห็นการกระทำ จะมีความเห็นอกเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นทุกวันนี้ ตื่นเช้าขึ้นมา ก็จะหาเครื่องดื่มโกโก้ดื่มทุกวัน เพราะอ่านดูจากบทความแล้ว เชื่อว่าน่าจะช่วยได้ ส่วนตัวผมเอง เนื่องจากคุณพ่อ-คุณแม่ของผม ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ จะไม่มีอาการดังกล่าวทั้งสองท่าน ดังนั้นคงไม่ต้องดื่มโกโก้ละครับ
       

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมถามคือ ที่โรงพยาบาลในประเทศไทยเรา มีนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาประจำหรือไม่? คุณจินตนาที่คล่ำหวอดอยู่ในวงการโรงพยาบาลเอกชนมานาน ก็ให้คำตอบว่า “มี แต่หากผู้ป่วยมีการร้องขอพบจิตแพทย์ หรือมีอาการจิตไม่ปกติ แพทย์จึงจะให้คำแนะนำหรือรักษา”  


ผมจึงเล่าว่า เมื่อวานนี้ผมอ่านพบเจอบทความหนึ่ง ในนิตยสารภาษาญี่ปุ่น เขียนว่า ผู้ที่สูงอายุเมื่อมีอาการเจ็บป่วย แล้วได้รับการรักษากระทั่งอาการดีขึ้นแล้ว ก่อนจะออกจากโรงพยาบาล จะต้องมีการรับการให้การปรึกษาก่อนจะออกจากโรงพยาบาลเสมอ 


โดยคำแนะนำจะเป็นเรื่องของการเตรียมตัวในการเข้าสู่การเป็นบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ ผู้บริบาล หรือบรรดาบุตร-หลานต่อไป แต่ที่สังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ บุตร-หลานมักจะต้องมีภาระหน้าที่จะต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวตนเอง หรือมีความจำเป็นอื่นๆ 


ดังนั้นสถานที่ที่จะต้องไปอาศัยอยู่ ก็จะหนีไม่พ้นบ้านพักคนวัยเกษียณ ดังนั้นตามคำแนะนำของนักสังคมสงเคราะห์หรือจิตแพทย์ จึงเป็นคำแนะนำว่า จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร? ในการไปอยู่ที่บ้านพักคนวัยเกษียณเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ

    
สังคมไทยเราในวันนี้ เรายังเป็นสังคมครอบครัวใหญ่ ที่จะมีคนพำนักอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นแบบสังคมดั้งเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นยังไม่ถึงขั้นต้องมีการเตรียมตัวดังกล่าว ซึ่งคุณป๊อกบอกว่า จากการที่คุณพ่อของคุณป๊อก ในช่วงที่เป็นวาระสุดท้ายของชีวิต ก็เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลตลอด 


จนครั้งสุดท้ายก่อนจะออกจากโรงพยาบาล การให้คำแนะนำของแพทย์กับญาติๆ หรือบุตร-หลานว่า ให้ปฏิบัติตัวอย่างไรกับผู้ป่วยและตนเอง เพื่อรอรับสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อการให้ญาติๆ ทำใจได้บ้าง ไม่เกิดการกะทันหันจนเกินไปนั่นเองครับ
          

โดยส่วนตัวผมเองก็มีความคิดว่า ถ้าหากวันสิ้นโลก(End of the word day is) ย่างก้าวเข้ามาถึง ซึ่งอาจจะเป็นสักวันหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีปัญหาที่จะต้องจากไป โดยที่เรารู้ล่วงหน้าก่อน เราจะทำอย่างไร? คำตอบของทุกคนคงจะแตกต่างกันออกไป 


แต่คำตอบของผมคือ ผมต้องทำวันเวลาที่เหลืออยู่ ให้ตนเองมีความสุขที่สุด ผมจะไม่ยอมให้มีสิ่งกวนใจ หรือสิ่งที่ทำให้ผมมีอาการหงุดหงิด ย่างเข้ามาสู่อารมณ์ของผมโดยเด็ดขาด ผมจะต้องปล่อยวางทุกอย่าง และต้องมองทุกอย่างให้เป็นบวก (Positive thanking)ให้ได้ จะต้องไม่ให้ทุกเวลาทุกนาทีสูญเปล่าไปอย่างไร้ความหมาย นี่คือความใฝ่ฝันส่วนตัวใน End of the world day หรือวันสิ้นโลกของผมครับ
         

ในขณะที่ในความเป็นจริง ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า วันนั้นคือเมื่อไหร่? ดังนั้นเราควรต้องทำให้ทุกวันให้เสมือนหนึ่งเป็นวันนั้น ด้วยการสร้างสรรสถานที่ที่เราอยู่อาศัย สังคมที่เราเป็นส่วนหนึ่ง และสิ่งแวดล้อมที่รอบข้างกายเรา ให้เป็นพื้นที่ๆทำให้เรามีความสุขที่สุด 


จะไม่ทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น สร้างมลพิษให้แก่อารมณ์-ความรู้สึกของเรา จะไม่ทำให้สิ่งเหล่านั้น มาทำให้ความเศร้าหมองเข้ามาสู่จิตใจเรา ด้วยการทำความสุขให้อยู่ล้อมรอบตัวเองเสมอไปครับ