เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 2)

07 ธ.ค. 2567 | 05:30 น.

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 2) : Healthcare Insight

จากความเดิมตอนที่แล้ว เราได้พูดกันไปถึงแนวทางการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ซึ่งผมได้ทิ้งท้ายเพื่อย้ำว่าควรดูแลเอาใจใส่ และการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งหลายท่านอาจกำลังตั้งคำถามว่า แล้วต้องทำยังไงให้ดีที่สุดกันล่ะ ในบทความนี้มีคำตอบมาให้ครับ ผมจะมาชวนคุยเกี่ยวกับสาระดี ๆ ต่อจากความเดิมของรุ่นใหญ่วัยเกษียณเรื่อง “การดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ” อย่างไรให้เหมาะสมที่สุดกันครับ

จากแนวทางการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุจากตอนที่แล้ว หลายท่านอาจพอมองออกกันบ้างแล้วใช่มั้ยครับว่าควรเริ่มปฏิบัติจากตรงไหนที่ง่ายที่สุด ให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุที่หัวใจเป็นเด็กได้อย่างมีความสุข โดยที่เราเองต้องมีความสุขไปด้วย เพราะหลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ความรู้สึกของผู้สูงอายุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ที่เป็นประโยคที่สื่อถึงความซับซ้อน และสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของอารมณ์ความรู้สึกของผู้สูงอายุครับ

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 2)

เพราะพื้นฐานความรู้สึกของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามสถานการณ์อาจมีความสุข ทุกข์ โกรธ เศร้า เหงา กลัว สลับกันไปได้ตลอดเวลา เพราะความรู้สึกสามารถถูกทำร้ายได้ง่ายจากคำพูด การกระทำ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจ หรือแม้แต่ขณะที่มีความสุข ก็ล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมรอบกาย ที่ส่งผลให้เกิดอารมณ์สุขใจได้เช่นเดียวกัน

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?

1. การเปลี่ยนแปลงของสมอง

เมื่ออายุมากขึ้น สมองก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัย อาจเสื่อมสภาพลงในบางส่วน และการลดลงของเซลล์ประสาท เช่น ความจำระยะสั้น ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือการจัดการกับสถานการณ์ซับซ้อน สิ่งนี้อาจทำให้ผู้สูงอายุมีความคิดที่ดู “ใจเป็นเด็ก” หรือ “ไร้เดียงสา” มากขึ้น การควบคุมอารมณ์ และความคิดจึงอาจไม่ได้เท่าเมื่อก่อน

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 2)

2. ประสบการณ์ชีวิต

การผ่านประสบการณ์ชีวิตมากมาย ทำให้บางคนเพียงแค่ต้องการกลับไปสู่ช่วงเวลาที่เรียบง่าย และมีความสุข ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างจากประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดชีวิตจนเกิดการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสังคม ในบางคนอาจมีความเหนื่อยล้าและท้อกับชีวิต

3. การเปลี่ยนบทบาท

จากอดีตที่ผู้สูงอายุเคยเป็นเสาหลักของครอบครัว กลับกลายเป็นเพียงผู้อาศัย ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางร่างกายของชีวิต จึงอาจทำให้ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเด็กที่ต้องการความเอาใจใส่และความรัก

4. ปัจจัยทางสุขภาพ

ความเจ็บป่วย และข้อจำกัดทางร่างกาย อาจทำให้ผู้สูงอายุต้องการพึ่งพาคนรอบข้าง คล้ายกับที่เด็ก ๆ ต้องการการดูแล เช่น ภาวะสมองเสื่อม อาจส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม ทำให้ผู้สูงอายุมีลักษณะคล้ายเด็ก หรือภาวะติดเตียง ที่ไม่สามารถทำกิจวัตประจำวันได้ด้วยตนเอง

5. ต้องการความสนใจ

ผู้สูงอายุอาจรู้สึกว่าตนเองถูกละเลย จึงมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนเด็ก เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนในครอบครัว ชอบให้คนอื่นเอาใจใส่และดูแล ต้องการความอบอุ่น การยอมรับจากคนใกล้ตัวเปรียบสเหมือนเด็กที่โหยหาความรักจากพ่อแม่

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 2)

ชีวิตของผู้สูงอายุเปรียบเสมือนหนังสือเล่มหนาที่บรรจุเรื่องราวมากมาย ทั้งความสุข ความเศร้า ความสำเร็จ และบทเรียนชีวิตที่สั่งสมมาตลอดหลายปี จากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม ครอบครัว และประสบการณ์ส่วนตัว เป็นเรื่องปกติที่เมื่ออายุมากขึ้น จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการมีลักษณะนิสัยที่คล้ายคลึงกับเด็กมากขึ้น

หรือที่เราเรียกว่า “ใจเป็นเด็ก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการทำความเข้าใจ การที่ผู้สูงวัยใจเป็นเด็กไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงตามวัย แม้พฤติกรรมของพวกเขาอาจคล้ายกับเด็กในบางมุมมอง แต่พวกเขายังคงเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตและต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ ทำความเข้าใจ และดูแลผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม การแสดงความรักและความเอาใจใส่ จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัย มีแต่ความสุข มีแต่รอยยิ้ม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

และแน่นอนว่าการดูแลผู้สูงวัยอาจต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจเป็นอย่างมาก อย่ามองว่าพฤติกรรมของผู้สูงวัยเป็นการแกล้งทำ หรือเป็นเรื่องน่ารำคาญ การทำความเข้าใจถึงเหตุผลลึก ๆ ช่วยให้เราอดทน และให้ความเคารพในมุมมองของพวกเขาได้มากขึ้น และอย่าลืมว่าทุกคนจะเข้าใจวัยผู้สูงอายุในวันหนึ่งเช่นกัน การมีความเข้าใจเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าในช่วงบั้นปลายของชีวิต

การดูแลผู้สูงวัยต้องใช้ความเข้าใจในจิตวิทยาของพวกเขา ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายวัยเกษียณด้วยการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งอีกทางเลือกที่น่าสนใจที่สามารถเข้ามาตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุได้แบบครบวงจรกับ “เนอร์ซิ่งโฮม” ที่มีแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ นักโภชนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดแลผู้สูงอายุโดยตรงดูแลตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด หมดห่วงเรื่องเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีเพื่อนวัยเดียวกัน

ไม่ต้องทนเหงาอยู่บ้านคนเดียวตอนที่ลูกหลานออกไปทำงาน หมดกังวงเรื่องค่าใช้จ่ายที่บานปลายอย่าง เตียง หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องเตรียมเอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สามารถคุมงบประมาณได้เองอย่างอิสระ เพื่อคุณภาพชีวิตอิสระที่ดีกว่า ที่เราสามารถเลือกได้เอง เพราะผมย้ำเสมอว่าการสนับสนุนจากคนรอบข้างช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงครับ ท้ายที่สุดนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับใครหลายคนครับ

 

คอลัมน์ Healthcare Insight หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,050 วันที่ 5 - 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567