“เพลาเพลิน” เดินหน้าโมเดลผสมผสาน รับเทรนด์ Wellness Tourism

16 พ.ย. 2567 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2567 | 12:26 น.

“เพลาเพลิน” สยายปีกธุรกิจรับเทรนด์ Wellness Tourism ชูแนวคิดผสมผสาน ทั้งด้านการศึกษา ท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์และบริการสมุนไพร ตอกย้ำผู้นำด้านเวลเนส พร้อมจับมือพันธมิตร เปิดตัว “สยามสบายสถาน” ศูนย์กลางการเรียนรู้และพักผ่อนแบบไทย ชี้อุปสรรคสำคัญของตลาดสมุนไพรไทยคือ การขออนุญาตในการผลิต เหตุใช้เวลานานและยุ่งยาก

ใครจะเชื่อว่าธุรกิจที่เริ่มต้นจากการสอนภาษา จะสามารถเติบโตและพัฒนาเป็น “รีสอร์ทสุขภาพ” ที่นำสมุนไพรไทยมาเป็นจุดขาย จนมีชื่อเสียงและกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของภาคอีสานที่หลายคนอยากมาเยือน ภายใต้ชื่อ “อุทยานการเรียนรู้เพลาเพลิน”

วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ประณัย สายชมภู” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด ผู้บริหารรุ่นใหม่ ผู้ขับเคลื่อน “เพลาเพลิน” ที่มาฉายภาพการผสมผสานระหว่างการศึกษา การท่องเที่ยว การเกษตรและ สมุนไพรไทยได้อย่างลงตัว พร้อมตอบรับกระแส Wellness Tourism ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้

นายประณัย สายชมภู

“ประณัย” เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของเพลาเพลิน เกิดจากธุรกิจการศึกษา โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรให้กับองค์กรต่างๆ และโรงเรียน โดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษและจีน ก่อนที่จะขยายมาสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมี “บุรีรัมย์” เป็นฐานหลัก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของครอบครัว

โดย “เพลาเพลิน” มีพื้นที่กว่า 400 ไร่ ตั้งอยู่ในอ.คูเมือง ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ 30 กิโลเมตร โดยจุดเด่นเป็นทั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและการเรียนรู้ มีอุทยานไม้ดอกเพลาเพลิน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีไม้ดอกเมืองหนาวหลากหลายชนิด จากนั้นจึงขยายไปสู่การทำเกษตรนวัตกรรม โดยเฉพาะการปลูกสมุนไพรเพื่อส่งให้โรงพยาบาลคูเมืองเป็นโรงพยาบาลใกล้เคียงใช้รูปแบบของวิสาหกิจชุมชน

“เพลาเพลิน” เดินหน้าโมเดลผสมผสาน รับเทรนด์ Wellness Tourism

“วิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นความสำคัญของสมุนไพรในการดูแลสุขภาพ เพลาเพลิน จึงขยายการปลูกสมุนไพรหลากหลายชนิด และนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม รวมถึงนำมาใช้ในบริการเวลเนสของรีสอร์ท

ซึ่งเป็นที่มาของ “เอกายาสหคลินิก” (AROKAYA Wellness Sala) ศูนย์สุขภาพแบบองค์รวม ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์แผนไทย จีน และปัจจุบัน รวมทั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งหมดถูกบูรณาการรวมกันเพื่อพัฒนาสู่ Wellness Tourism ควบคู่ไปกับการยกระดับพืชและสมุนไพรไทยสู่สากล ให้บริการกับผู้ที่มาพักผ่อนและประชาชนในพื้นที่”

ปี 2564 ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ คนรู้จักเพลาเพลินในฐานะเป็นแหล่งปลูกกัญชา เนื่องจากเราทำงานร่วมกับโรงพยาบาลคูเมือง ซึ่งเป็นโรงผลิตยาสมุนไพรที่ได้รับมาตรฐานจาก GMP แห่งเดียวในบุรีรัมย์ ทดลองปลูกกัญชาเกรดการแพทย์ ประจวบเหมาะกับเรื่องกัญชาถูกพูดถึงมาก ทุกคนมักจะคิดว่าเพลาเพลิน ปลูกแต่กัญชา แต่จริงๆ แล้วกัญชาเป็นแค่สมุนไพรชนิดหนึ่งที่เราปลูกเท่านั้น เราไม่ได้ปลูกกัญชาอย่างเดียว

“ประณัย” บอกว่า ปัจจุบันบริษัทได้เลิกปลูกกัญชาแล้ว เนื่องจากนโยบายที่ไม่ชัดเจนและความเข้าใจที่ผิดพลาดของผู้บริโภคเกี่ยวกับกัญชาและกัญชง การเปิดเสรีปลูกกัญชาในปี 2565 ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถปลูกกัญชาได้โดยง่าย แต่ขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกและการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง

ส่งผลให้เกิดปัญหาความเข้าใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของผู้บริโภค ในส่วนของธุรกิจเพลาเพลินนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ลงทุนในกัญชาโดยตรง แต่ก็มีการสนับสนุนในด้านการผลิตและการสกัดสารสำคัญจากกัญชาเพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งส่งผลให้มีการรับซื้อวัตถุดิบจากวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง

“เพลาเพลิน” เดินหน้าโมเดลผสมผสาน รับเทรนด์ Wellness Tourism

เส้นทางธุรกิจของ “เพลาเพลิน” ในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจด้านการศึกษา การจัดหลักสูตรต่างๆ สำหรับนักเรียนและเยาวชน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อสุขภาพ. 2. ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อุทยานเรียนรู้ที่มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวและการศึกษา โดยมีการจัดค่ายและแคมป์สำหรับนักเรียนและประชาชนในพื้นที่

3. ธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น น้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น โดยมีโรงงานผลิตเครื่องสำอางและสมุนไพรของตนเอง 4. ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ โปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับดูแลสุขภาพใช้สมุนไพรไทยเปิดเป็น “เอกายาสหคลินิก” นอกจากนี้บริษัทมีการร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนในการปลูกสมุนไพรเพื่อการแพทย์ และมีการสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย

“ประณัย” กล่าวอีกว่า แผนธุรกิจในอนาคต เพลาเพลินจะเดินหน้ายกระดับธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นสุขภาพ เริ่มตั้งแต่การสร้างแบรนด์ “สยามสบายสถาน” ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพักผ่อนแบบไทยที่ผสมผสานความรู้ด้านสมุนไพร

รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรในด้านเวลเนส โดยมีแผนที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง และการสร้างหลักสูตรสำหรับเยาวชน เช่น “หมอไทยจูเนียร์” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและสุขภาพแบบไทย

สำหรับกลุ่มบุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยว มีแผนพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้านสมุนไพรในเชิงลึก เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำความรู้ไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบรับรองความรู้ เพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหลักสูตรดังกล่าว เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ คือการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของเพลาเพลิน “ประณัย” บอกว่าเกิดจากการร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น KTC ซึ่งมีฐานลูกค้าสูงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของรีสอร์ท นอกจากนี้การร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและอาหาร การนำสมุนไพรมาประยุกต์ใช้ หรือการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ

นายประณัย สายชมภู กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด และนางสาวปริม ปัญญาเสรีพร ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’

โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ส่วนรายได้หลักของบริษัทจะมาจาก 1. การจัดเลี้ยงและสัมมนา 2.ห้องพัก 3.การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 4.จัดกิจกรรมและเวิร์กช็อป และ 5.ค่าบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในรีสอร์ท ตามลำดับ

“ปัจจุบันเทรนด์ ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แสวงหาประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหมาย สังเกตเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีสมาธิสั้นขึ้นและต้องการเรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจอย่างเจาะลึก เช่น ผู้ที่สนใจการตัดผมอาจต้องการเรียนรู้เฉพาะด้านนี้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิมๆ แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการปรับตัวของภาคการธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค”

“เพลาเพลิน” เดินหน้าโมเดลผสมผสาน รับเทรนด์ Wellness Tourism

“ประณัย” บอกอีกว่า อุปสรรคและโอกาสของตลาดสมุนไพรไทยคือ การขออนุญาตในการผลิตสมุนไพรเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากกระบวนการนี้ใช้เวลานานและมีความยุ่งยาก ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันเวลา มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและไม่มั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีอยู่ในตลาด

“ความไม่เข้าใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพรและกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนอาจส่งผลกระทบต่อการตลาดและการขายผลิตภัณฑ์ ส่วนโอกาสเชื่อว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีศักยภาพในการเติบโต เนื่องจากผู้บริโภคมีความสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น

และสมุนไพรไทยถือเป็นทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพ มีโอกาสในการเติบโตจากการสนับสนุนของภาครัฐในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวัน หากสามารถพัฒนามาตรฐานการผลิตสมุนไพรให้มีคุณภาพสูงขึ้น จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้”


หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,045 วันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567