“มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ” ภัยเงียบที่เกิดโดยไม่รู้ตัว

05 ต.ค. 2567 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2567 | 09:59 น.

“มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ” ภัยเงียบที่เกิดโดยไม่รู้ตัว : Tricks for Life

“โรคมะเร็ง” เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ และเชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็น แม้มะเร็งหลายชนิดอาจจะไม่เป็นที่รู้จัก เพราะเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่น “โรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ”

โรคมะเร็งหัวใจ (Primary Malignant Cardiac Tumors) เป็นโรคที่พบน้อย โดยอาจเกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจก็ได้ จากข้อมูลในอดีตพบว่ามะเร็งหัวใจมีความชุกอยู่ที่ 0.001% ถึง 0.28% โดยส่วนใหญ่แล้วมักพบเป็นมะเร็งชนิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือที่เรียกว่าซาร์โคมา (Sarcoma) โดยสาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด

“มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ” ภัยเงียบที่เกิดโดยไม่รู้ตัว

นายแพทย์อภิชาติ จันทรัตน์ อายุรแพทย์ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจนั้น เป็นโรคที่พบได้ยากและมีข้อมูลน้อยมากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ทำให้หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าจะเกิดมะเร็งที่บริเวณนี้ได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการทำงานของหัวใจ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

อาการที่เกิดขึ้นจาก “โรคมะเร็งหัวใจ” มักเป็นจากการอุดกั้นทางเดินของหัวใจ การหลุดกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยอาการที่เกิดขึ้นได้ เช่น

• หอบเหนื่อย หายใจลำบาก

• แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้

• การเต้นของหัวใจผิดปกติ (เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้า)

• แขนขาอ่อนแรง (จากการอุดตันของเส้นเลือดสมอง)

 

สำหรับการตรวจวินิจฉัยมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยการตรวจที่สำคัญคือ การตรวจเอคโคหัวใจ(Echocardiogram)รวมถึงการตรวจโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจภาพและหลอดเลือดหัวใจด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดง (Cardiac angiography) และการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษาที่สำคัญคือ “การผ่าตัด” โดยขั้นตอนและวิธีการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งหัวใจ นอกจากนั้นการรักษาอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง จะขึ้นกับระยะของโรค และชนิดของมะเร็ง

อย่างไรก็ดี “โรคมะเร็งหัวใจ” เป็นโรคที่พบได้ยากและมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจอย่างรุนแรง การตรวจสุขภาพเป็นประจำ และการตระหนักรู้ถึงความผิดปกติของร่างกายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,033 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567