ยกของหนักผิดท่า ระวัง! “หมอนรองกระดูกปลิ้น”

28 ก.ย. 2567 | 11:47 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 13:26 น.

ยกของหนักผิดท่า ระวัง! “หมอนรองกระดูกปลิ้น” : Tricks for Life

การก้มหยิบสิ่งของ หรือยกสิ่งของเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่หากต้องก้มยกของหนักด้วยท่าทางที่ผิดลักษณะ อาจส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูก

ซึ่ง “กระดูกสันหลัง” เปรียบเสมือนแกนหลักของร่างกายที่คอยรับน้ำหนักตัวเรา และค้ำจุนการเคลื่อนไหว โดยปกติกระดูกสันหลังจะเสื่อมตามอายุ แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ยกของหนัก นั่งผิดท่า นั่งนาน ส่งผลให้กระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัยได้

ยกของหนักผิดท่า ระวัง! “หมอนรองกระดูกปลิ้น”

“นพ.วิศิษฐ์ แซ่ล้อ” แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ เล่าให้ฟังว่า 1 ในสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน คือการก้มตัวไปหยิบของ หรือก้มแล้วยกของที่หนักในลักษณะท่าทางที่ผิด เพราะในคนที่ทำอยู่ซ้ำๆ เป็นประจำอาจมีความเสี่ยงที่เปลือกหุ้มหมอนรองกระดูกแตกทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทได้

ซึ่งท่ายกของหนักที่ถูกต้องให้เปรียบเทียบจากนักยกน้ำหนักในกีฬาที่เราเห็นกันทั่วๆ ไป หลักการของนักยกน้ำหนักที่ถูกต้องคือหลังตรง ใช้การย่อของข้อเข่าและสะโพกลงไป แล้วก็ยกน้ำหนักให้หลังตรง

แต่ในทางกลับกันท่าการยกน้ำหนักไม่ใช่ท่าที่เราคุ้นเคยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เราก็มักจะใช้การก้มหลังลงไป ซึ่งจังหวะนั้นเองที่จะทำให้เกิดแรงดันต่อหมอนรองกระดูกด้านหลัง และในอนาคตอาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกที่อยู่ภายในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทได้

สำหรับผู้มีอาการปวด แพทย์มักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจ X-ray เพื่อดูโครงสร้างกระดูกสันหลังและตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้น เช่น กระดูกแตกหัก หรือกระดูกเสื่อม หากอาการปวดหลังของคุณมีอาการปวดร้าวลงขา มีอาการชาหรืออ่อนแรง สงสัยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกเส้นประสาท แพทย์อาจพิจารณาให้ทำ MRI เพิ่มเติม จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น

เนื่องจาก X-ray ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูก MRI ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อเยื่อและระบบประสาท การใช้ข้อมูลจากทั้งสองวิธีร่วมกัน ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ยกของหนักผิดท่า ระวัง! “หมอนรองกระดูกปลิ้น”

โดยปัจจุบันโรงพยาบาลเอส สไปน์ ได้นำเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยมาใช้ในการรักษาโรคกระดูกสันหลัง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการบาดเจ็บหลังการรักษาแล้ว ยังช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลอีกด้วย

อย่างไรก็ตามหากไม่อยากเดินทางไปถึงจุดที่ต้องผ่าตัด แนะให้ปรับพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการควบคุมน้ำหนักตัว ก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันจะชะลอความเสื่อมได้ และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรก้มยกในท่าที่ถูกต้อง

 

คอลัมน์ Tricks for Life หน้า 15 ฉบับที่ 4,031 วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567