รู้ทัน "โรคกลัวการเข้าสังคม" ก่อนสายเกินไป

28 ก.ย. 2567 | 04:40 น.

รู้ทัน "โรคกลัวการเข้าสังคม" ก่อนสายเกินไป : Tricks for Life

โซเชียลมีเดียทำให้การเข้าสังคมดูง่ายขึ้น แต่สำหรับบางคน การเข้าสังคมกลับเป็นเรื่องยาก เพราะความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้คน ทำให้พวกเขารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาดหรือถูกคนอื่นมองในแง่ลบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ "โรคกลัวการเข้าสังคม" ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมาก

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรควิตกกังวลที่สามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเพศหญิง หรือเพศชาย

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH

โดยอาการจะเด่นชัดในช่วงวัยรุ่น ส่งผลให้มีอาการวิตกกังวลหรือกลัวหากต้องเข้าสังคม และต้องพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ 

ลักษณะอาการของคนที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม ได้แก่ รู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวการเข้าสังคมอย่างรุนแรง, หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือสถานการณ์ที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น, มีอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น เหงื่อออก พูดติดอ่าง หน้าแดง ท้องเสีย ปวดท้อง และมีอาการทางจิตใจ เช่น รู้สึกกังวล กลัวถูกตัดสิน กลัวถูกปฏิเสธ

รู้ทัน \"โรคกลัวการเข้าสังคม\" ก่อนสายเกินไป

สาเหตุโรคกลัวการเข้าสังคมสามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย เช่น สารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงไป, คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรควิตกกังวล, สภาพแวดล้อม เช่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกเพื่อนรังแก,ความกดดันจากการทำงาน และความผิดปกติด้านร่างกาย เช่น ใบหน้าเสียโฉม พูดติดอ่าง

การรักษาโรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) สามารถรักษาให้หายได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยวิธีที่มักนำมาใช้รักษา ได้แก่ การรักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคกลัวสังคมมักเป็นยาในกลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้าหรือยาต้านความวิตกกังวล

รู้ทัน \"โรคกลัวการเข้าสังคม\" ก่อนสายเกินไป

ยาเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ  และการบำบัดด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)  จะเป็นการพูดคุยกับนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์เพื่อจัดการกับความกังวลด้วยการผ่อนคลายร่างกาย และปรับความคิดแง่ลบให้เป็นบวก ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาโรควิตกกังวล

อย่างไรก็ตาม โรคกลัวการเข้าสังคม อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในชีวิต เช่น โอกาสในการเรียน การทำงาน บางคนที่มีอาการรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นหากใครมีอาการกลัวสังคมต่อเนื่องกันนานเกิน 6 เดือน ควรรีบมาพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม