ไม่มีสมาธิ คิดช้า ต้นเหตุ "สมองล้า" สัญญาณเตือนสมองทำงานหนักเกินไป

07 ก.ค. 2567 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2567 | 13:35 น.

ไม่มีสมาธิ คิดช้า ต้นเหตุ "สมองล้า" สัญญาณเตือนสมองทำงานหนักเกินไป : Tricks for Life

เคยไหม รู้สึกเหมือนจำอะไรได้ แต่เผลอแป๊ปเดียวก็ลืม คิดอะไรไม่ออก สมองตื้อ เหนื่อยง่าย ร่างกายของคุณมีสัญญาณเตือนเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีแปลว่าคุณกำลังเผชิญกับ"ภาวะสมองล้า"อยู่ 

นพ.นรินทร สุรสินธน แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี)  กล่าวว่า สมองล้าเป็นภาวะที่สมองทำงานหนักมากเกินไปเป็นเวลานาน จนส่งผลต่อสมองในส่วนของสารเคมีทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าระหว่างเซลล์ประสาททำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ บางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราปล่อยไว้นานจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราได้อย่างมากมาย

สาเหตุของสมองล้า  ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ได้แก่

  • มีสภาวะความเครียดมากเกินไปส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดเสี่ยงภาวะสมองล้า
  • พักผ่อนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และขาดการออกกำลังกาย

นพ.นรินทร สุรสินธน

  • รับคลื่นแม่เหล็กจากการเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือใช้งานคอมพิวเตอร์มากเกินไป
  • เกิดจากการทำงานของฮอร์โมนที่ไม่สมดุล เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น
  • โรคเรื้อรังบางชนิดจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองล้าได้เช่นกัน
  • เกิดจากสารพิษในร่างกาย เช่น สารโลหะหนัก การปนเปื้อนในอาหาร หรือมลพิษ เป็นต้น
  • การขาดสารอาหารบางประเภท เช่น วิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน หรือสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งหาได้จากผักผลไม้เป็นหลัก

อาการของภาวะสมองล้า อาการทางสมองจากภาวะสมองล้า ได้แก่ มีปัญหาด้านความจำ ไม่ค่อยมีสมาธิ คิดได้ช้า ส่งผลให้ทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ลำบากมากยิ่งขึ้น ส่วนอาการทางร่างกายและอารมณ์จากภาวะสมองล้า ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะแบบเรื้อรัง หงุดหงิดง่าย และสายตาอ่อนเพลีย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลให้สุขภาพสมองแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ เริ่มจากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับเป็นเวลา ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย บริหารจัดการความเครียดของตนเอง และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง

ไม่มีสมาธิ คิดช้า ต้นเหตุ \"สมองล้า\" สัญญาณเตือนสมองทำงานหนักเกินไป

แต่หากภาวะสมองล้ามาจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะฮอร์โมนขาดความสมดุล จุลินทรีย์ในลำไส้ขาดความสมดุล หรือมีสารพิษตกค้างในร่างกาย อาจจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อน เพื่อการฟื้นฟูภาวะสมองล้าอย่างตรงจุด

 

ภาวะสมองล้าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะวัยทำงานและวัยเรียน ถึงแม้อาการจะสามารถหายได้ในเวลาต่อมา แต่หากไม่ใส่ใจอาจมีโรคอื่นๆ ตามมาในภายหลัง การผ่อนคลายตนเองไม่ให้สมองทำงานหนักจึงเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงอยู่ตลอด และดูแลตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมทั้งปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เพราะกุญแจหลักของร่างกายเราคือ สมอง ที่ใช้งานอยู่ตลอดเวลา