เช็คอัพ อาการเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก”

13 เม.ย. 2566 | 20:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 19:39 น.
675

เช็คอัพ อาการเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก” คอลัมน์ Tricks for life

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยในวันนี้ และคาดว่าจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (super-aged society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีเกิน 28% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2574 ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในมิติธุรกิจและแรงงานโดยเฉพาะ GEN Y ที่ต้องแบกรับภาระทั้งความรับผิดชอบของตนเองรวมถึงผู้สูงอายุในครอบครัว

เช็คอัพ อาการเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก”

ยังส่งผลให้เกิดโรคอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “โรคหลอดเลือดสมอง” ซึ่ง 1 ในโรคหลอดเลือดสมองที่อัตราความพิการและเสียชีวิตสูงสุด คือโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโดยประมาณ 20-30%

สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก มีตั้งแต่ ปวดศีรษะรุนแรง มองเห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยว พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง ซึม สับสน โคม่า โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่เป็นประจำ ภาวะอ้วน เป็นต้น ส่วนใหญ่ต้องได้รับการรักษาที่ค่อนข้างเร่งด่วนฉุกเฉิน

ในอดีตการรักษาส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดเปิดเพื่อหนีบหลอดเลือดที่โป่งพอง แต่ในบางตำแหน่งของหลอดเลือด การรักษาด้วยการผ่าตัดมีข้อจำกัดหรือมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดค่อนข้างสูง ยุ่งยากซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดและใช้ขดลวดอุดหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง ซึ่งมีบาดแผลเล็ก ฟื้นตัวไว เข้าถึงจุดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย จึงเป็นทางเลือกในการรักษาในปัจจุบัน หรืออาจใช้ร่วมกับการรักษาด้วยการผ่าตัด

นายแพทย์สุจินต์ รุจิเมธาภาส นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ งานประสาทศัลยศาสตร์ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ศูนย์การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดโรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์ที่ให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดส่วนปลาย โดยการใส่สายสวนหลอดเลือด เพื่อมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น ลดความพิการและเสียชีวิต

เช็คอัพ อาการเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก”

ขณะที่ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การป้องกัน เลิกสูบบุหรี่ รักษาโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และ เมื่อมีอาการ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน

ดังนั้นหากมีอาการที่เข้าข่ายน่าสงสัย หรือมีอาการตามข้างบน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสอบเป็นการด่วน

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,877 วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2566