ปวดหลังเรื้อรัง สัญญาณเตือน ‘เนื้องอกไขสันหลัง’

11 ธ.ค. 2565 | 18:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2565 | 01:27 น.

Tricks for Life

หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังมานาน อย่ามองข้าม เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน “โรคเนื้องอกไขสันหลัง” และหากปล่อยเรื้อรังไปนานๆ อาจส่งผลถึงขั้นเป็นอัมพาตได้

 

ระบบประสาทส่วนกลางของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยสมองและไขสันหลังที่มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน โดยเฉพาะ “เนื้องอกไขสันหลัง” คือเนื้องอกที่อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ระดับคอจากรอยต่อก้านสมอง ไปจนถึงระดับเอว

 

หากเกิดการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ประสาทจะพัฒนากลายเป็นเนื้องอก โดยที่เซลล์ของเนื้องอกไขสันหลังส่วนใหญ่เป็นเซลล์ของเยื่อหุ้มไขสันหลัง เซลล์เยื่อหุ้มเส้นประสาท และเซลล์ภายในไขสันหลัง อาการของเนื้องอกไขสันหลัง ในแต่ละตำแหน่งจะมีความแตกต่างกัน

              

เช่น ถ้าเนื้องอกอยู่ในระดับกระดูกสันหลังส่วนคอ จะมีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อแขน ชาตามมือและแขนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอาการปวดต้นคอจะไม่มาก อาจมีอาการเพียงแค่ปวดตึงคอ ไม่ค่อยมีอาการปวดร้าวลงแขนแบบที่พบในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน เวลาเดินบางครั้งอาจมีอาการเกร็งที่ขา 2 ข้าง

Tricks for life               

ส่วนอาการเนื้องอกไขสันหลังในระดับเอวจะมีอาการอ่อนแรงขาข้างใดข้างหนึ่ง เวลาเดินขาอาจจะทรุดลงได้ หากยังไม่รับการรักษาอาการอ่อนแรงจะมากขึ้น หรืออาจทำให้อัมพาตทั้งแขนและขาทั้ง 2 ข้างได้ อาการส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนแรงที่ขาเป็นหลัก ร่วมกับมีอาการชาของลำตัวลงไปจนถึงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างได้

              

“ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดบริเวณกลางหลัง ชาหรือปวดร้าว รอบ ๆ อกได้ เนื้องอกในระดับกระดูกสันหลังส่วนเอวจะมีเส้นประสาทไขสันหลัง และส่วนปลายของไขสันหลัง

              

หากเกิดเนื้องอกบริเวณนี้ อาการอ่อนแรงจะไม่อ่อนแรงขาทั้งข้าง ซึ่งต่างจากเนื้องอกในตำแหน่งระดับคอ หรือ อก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ อาการปวดหลัง มีตั้งแต่ปวดตึงไปจนถึงปวดมาก นอนพักก็ไม่หาย ปวดแบบโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนผู้ป่วยบางรายปวดมาก จนไม่สามารถนอนได้

              

หากอาการรุนแรงมากขึ้นจะพบปัญหาระบบการขับถ่าย เช่น กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ ปัจจุบัน ใช้การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีเดียวในการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับโรคเนื้องอกไขสันหลัง ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีและหายเป็นปกติได้ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ” นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวในตอนท้าย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,843 วันที่ 11 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565