น้ำท่วม ไฟรั่ว ไฟดูด ป้องกันได้อย่างไร

03 ต.ค. 2565 | 18:10 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 01:22 น.

Tricks for life

ฤดูฝน ฤดูน้ำหลากจนเกิดภาวะน้ำท่วม น้ำระบายไม่ทัน จะกลายเป็นภัยร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนได้ง่าย หากเกิดกรณีไฟรั่ว ไฟดูด จากกรณีเหตุร้ายที่เกิดขึ้นมากมายส่งผลให้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. มหิดล ต้องออกมาเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติลดความเสี่ยงและป้องกันการสูญเสียชีวิตจากภัยไฟรั่ว ไฟดูด

 

ผู้ที่ถูกไฟดูดจากไฟรั่วขณะน้ำท่วมขัง หรือ Electric Shock Drowning (ESD) มักรู้สึกชา ขยับร่างช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงอาจเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ด้วยนอกเหนือจากเสียชีวิตเพราะกระแสไฟฟ้าโดยตรง

น้ำท่วม ไฟรั่ว ไฟดูด ป้องกันได้อย่างไร

หลักในการปฏิบัติลดความเสี่ยง ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า สายไฟฟ้าที่เห็นเบื้องหน้านั้นอาจมีไฟเลี้ยงอยู่ บริเวณโคนเสาไฟฟ้า เสาไฟส่องสว่าง หรือ สายไฟที่แช่น้ำ เป็นบริเวณที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะเดินหรือขี่มอเตอร์ไซด์ หรือจักรยานผ่านเข้าไปใกล้ โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมขังจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจมีสายไฟชำรุด รั่ว หรือสัตว์มีพิษพวกงูหรือตะขาบที่เรามองไม่เห็นอยู่

 

หากพบผู้ที่ถูกไฟดูดในบ้าน ก่อนอื่นต้องตั้งสติพิจารณาว่าสามารถ “ยกเบรกเกอร์” ตัดวงจรไฟเลี้ยงที่ตำแหน่งนั้นได้หรือไม่ สำหรับอาคารที่มีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม ควรย้ายตำแหน่งปลั๊กเสียบและย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าให้สูงขึ้นพ้นระดับน้ำ การปล่อยให้เกิดไฟรั่ว นอกจากเป็นอันตรายต่อชีวิตแล้วยังทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินค่าไฟฟ้าไปโดยไม่ได้ใช้ บิลค่าไฟจะสูงกว่าปกติ

น้ำท่วม ไฟรั่ว ไฟดูด ป้องกันได้อย่างไร

สำหรับข้อแนะนำการป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว มีดังนี้

• ควรติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว ประเภทเซฟทีคัทที่ได้มาตรฐานเพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมเพิ่มจากระบบดินและเบรกเกอร์ตัดไฟ

• ในบ้านควรมี ไขควงเช็คไฟ ไว้ประจำเพื่อใช้ตรวจวัดไฟรั่วที่โครงอุปกรณ์ เช่น ฝาตู้เย็น เครื่องซักผ้า หากสงสัยว่าจะเกิดไฟรั่ว ไฟดูด โดยไม่ต้องสัมผัสด้วยมือเราเอง

 

• ควรตรวจสอบความชำรุดของสายไฟและจุดต่อสายไฟอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันไฟรั่ว ยิ่งถ้าโดนแดด มีของกระแทก หนูกัดสายไฟ หรือใช้งานเกินพิกัดจนเกิดความร้อน สังเกตุได้จากความร้อน สีเริ่มเปลี่ยน มีกลิ่นไหม้ รอยเขม่าดำ อายุการใช้งานของสายไฟอาจลดน้อยกว่า 20 ปีที่กำหนด

• หากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟชำรุด ไม่ควรซ่อมด้วยตัวเอง ควรเรียกช่างไฟที่มี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพช่างไฟฟ้า”

• ผู้รับเหมาติดตั้งเสาไฟส่องสว่างควรเอาใจใส่ในมาตรฐานการติดตั้ง เชื่อมต่อหรือการใช้เทปพันเก็บสายไฟ การตรวจสอบ ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่ชำรุดและอยู่ใกล้บริเวณที่น้ำท่วมถึง

• จัดอบรมให้ความรู้ผู้อยู่ในอาคาร ชุมชนและโรงเรียนถึงวิธีป้องกันไฟดูด และการทำ PCR ช่วยชีวิตในยามฉุกเฉิน

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,823 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565