แบล็คลิสต์เครดิตบูโรคืออะไร

25 พ.ค. 2566 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2566 | 13:35 น.

แบล็คลิสต์เครดิตบูโรคืออะไร : คอลัมน์เรื่องเงินเรื่องง่าย โดย...นายธนาคาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3890

ทุกท่านที่เคยกู้เงิน หรือ กระทั่งทำบัตรเครดิต จะต้องเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า เครดิตบูโร เรามาทำความเข้าใจก่อนว่า เครดิตบูโรคืออะไร 

ในหลายๆ ประเทศก็มีเครดิตบูโรของแต่ละประเทศ แต่อาจจะใช้ชื่อเรียกแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยเรียกเครดิตบูโร เครดิตบูโรเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลการค้างชำระสินเชื่อทุกประเภทของลูกหนี้เกือบทั้งระบบ โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นธนาคารต่างๆ

เครดิตบูโรก็ถือว่า ตัวเองเป็นหน่วยงานที่เป็นเอกเทศ มีระบบของตัวเอง มีวิธีการของตัวเอง มีองค์กรของตัวเอง แล้วก็อยู่แบบนี้มานานแล้ว  

ทีนี้พวกสถาบันการเงินต่างๆ พอจะทำวงเงินให้กับผู้กู้นอกจากการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ข้อมูลการผ่อนชำระย้อนหลังทำให้เห็นพฤติกรรมของลูกหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้ในอดีต ทำให้สถาบันการเงินสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น ว่าจะให้วงเงินสินเชื่อแก่ลูกหนี้รายนั้นๆ หรือไม่

แต่นั่นคือ ทฤษฎีครับ เวลาตรวจผลเครดิตบูโร สามารถย้อนหลังไปได้ถึง 3 ปี เมื่อหลายปีที่แล้วลูกหนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ ทำให้ผลเครดิตบูโรออกมาว่า มีค้างชำระ ซึ่งการค้างชำระนั้น ก็มีหลากหลายระดับ  เช่น เกิน 30 วัน เกิน60 วัน และเกิน 90 วัน 

ในระบบสถาบันการเงินมองว่า ถ้าลูกหนี้รายใดค้างชำระเกิน 90 วันนั้น ถือว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ แล้วให้จัดลูกหนี้รายนั้นเป็นหนี้เสียหรือ NPL ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

                          แบล็คลิสต์เครดิตบูโรคืออะไร

ทีนี้แบล็คลิสต์ของเครดิตบูโรที่คุยกันนั้น มันไม่มีหรอกครับ ไม่มีการเขียนแบล็คลิสต์ในรายงานผลเครดิตบูโรใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่การเขียนว่าค้างชำระกี่วันแล้ว เกินกี่วันแล้ว สถาบันการเงินเป็นผู้นำผลเครดิตบูโรมาประกอบการตัดสินใจ

ซึ่งแน่นอนว่า หน่วยงานบริหารความเสี่ยงส่วนใหญ่ พอเห็นลูกหนี้ค้างชำระในอดีต ก็พยายามที่จะปฏิเสธสินเชื่อ โดยที่ไม่สนผลประกอบการปัจจุบันว่า ลูกหนี้รายนั้น ได้ฟื้นจากปัญหาการเงินแล้ว และกำลังทำธุรกิจได้อย่างดีอยู่ 

ปัญหาของประเทศไทยคือ เราขี้อายครับ ในกฎไม่แน่ใจว่ากฎไหนบอกว่า สถาบันการเงินไม่สามารถใช้ผลเครดิตบูโรปฏิเสธการให้สินเชื่อได้ ผมเลยยิ่งงงว่า แบล็คลิสต์เครดิตบูโรมัน เกี่ยวอะไรกับการให้สินเชื่อ นี่พูดแบบล้อเลียนนะครับ 

เพราะจริงๆ บางสถาบันการเงินพอเห็นลูกค้าค้างชำระนิดหน่อยในอดีตก็ดีดใบขอสินเชื่อทิ้งลงถังขยะไปแล้ว เลยเป็นปัญหาของลูกค้าว่า ทีมสินเชื่อแจ้งเป็นรายลักษณ์อักษรไม่ได้ ว่าปฏิเสธการให้สินเชื่อ เพราะตัวเองติดเครดิตบูโร แต่แจ้งด้วยวาจาเป็นส่วนใหญ่

เลยทำให้คำว่า แบล็คลิสต์เครดิตบูโรวิ่งลงไปในตลาด
ผลเครดิตบูโรย้อนหลัง 3 ปี ไม่แน่ใจว่าเอาไปทำอะไร 3 ปีที่แล้ว คุณอาจจะดี 3 เดือนที่แล้ว คุณอาจจะดี แต่ 3 เดือนข้างหน้าคุณอาจจะไม่ดีก็ได้ ไม่มีอะไรกำหนดได้ตายตัว ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า จะมาจากผลการชำระหนี้ในอดีตวิธีนี้เป็นวิธีที่โบราณมาก

ผลเครดิตบูโรไม่ต้องโชว์ถึง 3 ปีหรอกครับ แสดงผลเครดิตบูโรย้อนหลังได้สูงสุด 1  ปี น่าจะเพียงพอแล้ว เห็นด้วยที่ไม่ควรยกเลิกเครดิตบูโรไปเลยเพราะจะยิ่งทำให้ลูกหนี้ ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีเสียโอกาส 

พูดให้เป็นกลางนะครับ สิ่งที่ธนาคารกลัว คือ ลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน และกำลังถูกสถาบันการเงินฟ้องร้องอยู่ ถ้าเราให้สินเชื่อตอนที่ลูกหนี้อยู่ในสภาพนี้ โอกาสการได้เงินต้นคืนเป็นอะไรที่ยากมาก อันนี้เห็นด้วยครับว่ามีผลทำให้ธนาคารจำต้องปฎิเสธการให้สินเชื่อ

ดังนั้น รู้อย่างนี้แล้ว เราไม่ควรแสดงผลเครดิตบูโรเกิน 1 ปี เพื่อให้โอกาสลูกหนี้ที่ฟื้นจากปัญหาทางการเงิน และให้โอกาสธนาคารได้นำข้อมูลนี้มาพิจารณาใน timeline ที่เหมาะสมจะดีกับทุกฝ่าย
ไว้มาเล่าให้ฟังใหม่ครับ