หุ้นยักษ์ใน Corner

07 ม.ค. 2566 | 20:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 03:31 น.
1.5 k

หุ้นยักษ์ใน Corner บทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า : โลกในมุมมองของ Value Investor

 

 

ช่วงเร็ว ๆ นี้  ในตลาดหุ้นไทยเราได้เห็น  “หุ้นปาฏิหาริย์” เกิดขึ้นบ่อย  คำ ๆ นี้มีความหมายถึงหุ้นที่มีราคาขึ้นไปเร็วและสูงมากจน  “เป็นไปไม่ได้” ตามพื้นฐานหรือปัจจัยอื่นยกเว้นแต่จะเป็นเรื่องของ “ปาฏิหาริย์”  แต่ในความคิดของผมแล้ว  มันไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์อะไรเลย  

 

มันคงเป็นเรื่องของการที่หุ้นถูก “Corner” หรือถูก “ต้อนเข้ามุม” หรือการที่หุ้นถูกซื้อมากกว่าปกติโดยไม่ได้คำนึงถึง “มูลค่าที่แท้จริง” จนหุ้นที่ “หมุนเวียน” ในตลาดเหลือน้อยมาก  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก  อาจจะเป็น 10 เท่าของราคาก่อนที่จะมีการ Corner ในเวลาอันสั้น  อาจจะแค่ไม่กี่เดือน  และหลังจากนั้น  ราคาหุ้นก็อาจจะค้างอยู่สูงประมาณนั้นได้อีกนาน  อาจจะเป็นหลายเดือนหรือเป็นปี ๆ  ถ้า  Corner นั้นยัง  “ไม่แตก” แต่บ่อยครั้ง  ภายในเวลาไม่นาน  หุ้นก็อาจจะตกลงมาอย่างแรง  หลายครั้งแทบจะถล่มทลายเมื่อ Corner นั้น “รั่วหรือแตก”  เพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจและเทขายหุ้นอย่างไม่คิดชีวิต

 

เดิมนั้นหุ้นปาฏิหาริย์หรือหุ้นที่ถูก Corner มักเกิดกับหุ้นตัวเล็กที่มีหุ้นหมุนเวียนต่ำ  ต่อมาก็เกิดขึ้นกับหุ้นขนาดกลางที่ถูก Corner จนกลายเป็น “หุ้นแสนล้านบาท” อานิสงค์จากนักลงทุนไทยที่มีเงินมากขึ้นมาก  หลายคนก็ผันตัวจากการเป็นนักธุรกิจที่อาจจะมองว่าการเล่นหุ้นทำเงินง่ายกว่าธุรกิจมาก  อีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เติบโตขึ้นมากจากการลงทุนโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในส่วนของการเก็งกำไร  ให้ผลตอบแทนที่งดงามในยามที่โลกทั้งโลกอยู่ในภาวะของการเก็งกำไรหนักมากในช่วงโควิด-19
 

 

จนถึงในช่วงเร็ว ๆ  นี้และถึงวันนี้  การ Corner หุ้นก็ถึงจุดพีกหรือจุดสูงสุด นั่นก็คือ  หุ้นที่ถูก Corner หลายตัวกลายเป็น  “หุ้นยักษ์” ที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของหุ้นที่มี  Market Cap. สูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ไทย  บางตัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ  ในระดับ “ล้านล้านบาท”

 

ทั้ง ๆ  ที่รายได้และกำไรของธุรกิจนั้นน่าจะอยู่ในระดับกลางเท่านั้นเมื่อเทียบกับหุ้น “Top-Ten” หรือหุ้นระดับกลางอื่น ๆ   ซึ่งนี่ก็ทำให้ผมนึกถึงกระแสของการเก็งกำไรหุ้นในตลาดสหรัฐในช่วงโควิดที่เราได้เห็นการ Corner หุ้นตัวเล็กอย่างหุ้น “GameStop” และหุ้นขนาดกลางที่กลายเป็นหุ้นยักษ์อย่าง หุ้น “Tesla” ซึ่งส่งผลให้หุ้นเทสลากลายเป็นหุ้นยักษ์ที่ท้าทายหุ้น “Top-Ten” ของอเมริกา

 

อย่างไรก็ตาม  หุ้นเทสลาซึ่งตอนที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดนั้น  นักลงทุนต่างก็คิดว่าหุ้นเทสลาเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่กำลัง “Take off” บริษัทเริ่มมีกำไรและโรงงานที่เมืองจีนกำลังไปได้สวยมาก  เทสลากำลังปฏิวัติโลกของรถยนต์สันดาปภายในให้กลายเป็นรถไฟฟ้าและจะไม่มีผู้ผลิตรายใดที่จะมาแข่งขันอย่างใกล้เคียงได้  ราคาหุ้นขึ้นไป 10 เท่าในเวลาอันสั้นคือปีเดียว  Market Cap. ใหญ่กว่ามูลค่าหุ้นรถยนต์ “รุ่นเก่า” ทั้งโลกรวมกัน

 

เป็นปาฏิหาริย์ ที่ทำให้ อีลอน มัสก์ กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกหลังจากที่แทบจะล้มละลายขายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อกู้ธุรกิจก่อนหน้านั้นไม่นาน อย่างไรก็ตาม  Corner หุ้นเทสลาล่าสุดนั้นดูเหมือนจะ “แตก”ลงอย่างรวดเร็ว  ราคาหุ้นที่ประมาณ 400 เหรียญเมื่อปลายปี 2021 ตกลงมาเหลือประมาณ 120 เหรียญตอนสิ้นปี 2022 หรือลดลงประมาณ 70% ในเวลาเพียงปีเดียว
 

 

หุ้น “Top-Ten” หรือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของบริษัท 10 อันดับแรกของตลาดหุ้นไทยในวันนี้  ผมคิดว่ามีหุ้นที่น่าจะอยู่ใน Corner ไม่น้อยกว่า 3-4 ตัว  และนั่นก็คือหุ้นที่ผมคิดว่ามีมูลค่าสูงกว่าพื้นฐานทางธุรกิจอย่างชัดเจน  

 

และเหตุผลที่ราคาหุ้นสูงมากนั้นส่วนสำคัญมาจากการที่มีนักลงทุน  ไม่ว่าจะเป็นใคร  ซึ่งรวมถึงเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย  ได้เข้าไปซื้อหรือไม่ขายหุ้นออกไปแม้ว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐานไปมาก  และการซื้อหรือไม่ขายนั้น  มีมากกว่าความต้องการที่จะขายมาก  ส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณหุ้นที่จะขายมีจำกัด  บางทีแค่ไม่เกิน 20-30% ของหุ้นทั้งหมดหรือที่เรียกว่าหุ้นมี “Free Float” ต่ำ

 

หุ้นที่ผมคิดว่าอยู่ใน Corner จำนวน 4 ตัวนั้น  ผมลองมาคำนวณดูพบข้อมูลพื้นฐานดังต่อไปนี้คือ  

 

  • 1) มี Market Cap. โดยเฉลี่ยหุ้นละประมาณ 779,000 ล้านบาท
  • 2) รายได้ “ปกติ” ต่อปีในปี 2565 โดยประมาณจากตัวเลขสูงสุดที่เคยทำได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ  72,783 ล้านบาท
  • 3) กำไรต่อปี ประมาณจากกำไรสูงสุดที่ทำได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ 13,824 ล้านบาท
  • 4) ค่า PE ของหุ้นเฉลี่ยถ้าคิดจากตัวเลขเฉลี่ยของข้อ 1 และข้อ 3 ก็คือ ประมาณ 56 เท่า  แต่ถ้าคิดโดยหาค่า PE ของแต่ละตัวแล้วนำมาเฉลี่ยก็จะได้ค่า PE ประมาณ 59 เท่า
  • 5) ปันผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 0.33% ต่อปี  
  • 6) ที่เป็นสัญญาณบอกว่าอาจจะเกิดการ Corner หุ้นก็คือ Free Float ของหุ้นที่วัดจากผู้ถือหุ้นที่ถือต่ำกว่า 5 อันดับแรกเป็นต้นไปว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ ก็พบว่าเท่ากับ 26%

 

ตัวเลขของหุ้น Top-Ten อีก 6 ตัวที่ไม่น่าจะมีการ Corner เพราะหุ้นมีการกระจายในกลุ่มนักลงทุนทั่วไปและแทบจะไม่มีรายใหญ่เป็นเรื่องราวหรือถ้ามีรายใหญ่ก็เป็นรายใหญ่ที่เป็นรัฐหรือบริษัทจดทะเบียนอื่น  พบว่า 1) หุ้นมี Market Cap. โดยเฉลี่ยหุ้นละ 619,126 ล้านบาท เล็กกว่า “หุ้นที่อยู่ใน Corner” เล็กน้อย 2) รายได้ต่อปีของปี 2565 ประมาณว่าอยู่ที่เฉลี่ยบริษัทละ 915,079 ล้านบาท หรือมากกว่าหุ้นที่ถูก Corner กว่า 10 เท่า  จริงอยู่ว่ามีหุ้นตัวหนึ่งที่ใหญ่กว่าปกติมาก  อย่างไรก็ตาม  ถ้าตัดหุ้นตัวนี้ออก  ค่าเฉลี่ย 5 ตัวก็ยังสูงถึงบริษัทละ 409,165 ล้านบาทต่อปี มากกว่าหุ้นใน Corner ถึงเกือบ 5 เท่า  3)  กำไรเฉลี่ยของบริษัทในปี 2565 อยู่ที่ประมาณบริษัทละ 41,797 ล้านบาท สูงกว่าหุ้นใน Corner 4 ตัว ถึง 3 เท่า

 

4) ค่า PE เฉลี่ยของหุ้น Top-Ten 6 ตัวอยู่ที่ 14.8 เท่า เทียบกับ 56 เท่า หรือถ้าคิดค่า PE รายตัวแล้วนำมาเฉลี่ย ก็จะอยู่ที่ 21.8 เท่า เทียบกับ 59 เท่า  5) ปันผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4% ดีมากเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มที่ถูก Corner ที่ 0.33% เท่านั้น  และสุดท้ายคือ 6)  Free Float ของหุ้น 6 ตัวนี้เฉลี่ยเท่ากับ 37.9% ซึ่งทำให้การ Corner ทำได้ยากมาก

 

อาจจะมีคำถามว่าใครเป็น “เจ้ามือ” ในการ Corner หุ้นที่ใหญ่ขนาดนั้นได้? ผมเองก็ตอบไม่ได้  บางทีอาจจะไม่ได้มีเจ้ามือเป็นเรื่องเป็นราวแบบที่มักจะเกิดขึ้นกับหุ้นตัวเล็กที่เห็นได้ชัดว่าทำได้ง่าย  เช่น หุ้นที่มี Free Float เพียงไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ที่ในยุคนี้มีคนสามารถเข้าไปทำ Corner ได้มากมาย

 

แต่ในกรณีของหุ้นยักษ์ระดับ Top-Ten นั้น  บางทีคนที่เข้าไปซื้ออาจจะไม่ได้คิดว่าหุ้นนั้นมีราคาแพงกว่าปกติมาก  พวกเขาอาจจะเข้าไปเพราะมีคนซึ่งรวมถึงผู้บริหารและนักวิเคราะห์ที่บอกว่าหุ้นเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่จะโตขึ้นไปในระดับโลกภายในเวลาไม่กี่ปี  ดังนั้น  ราคาหุ้นที่แพงจัดไม่เป็นประเด็น  และนี่เป็น  “หุ้นเติบโต” ที่เห็นได้ชัดจากการขยายธุรกิจไปอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรม  “แห่งอนาคต”

 

และสิ่งที่พิสูจน์ว่าเรื่องทั้งหลายจะเป็นจริงก็คือ  ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กับผู้บริหารและ/หรือเจ้าของและนักลงทุนรายใหญ่เริ่มเข้าไปไล่ซื้อหุ้นอย่างหนัก  ซึ่งก็ดึงดูดให้นักลงทุนที่ชอบเก็งกำไรเข้าไปเล่นและผลักดันให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอีกจน “ติดลม”  ต่อมาก็อาจจะมาจากผลประกอบการบริษัทที่ดีขึ้นอย่างน่าประทับใจ  หุ้นก็ยิ่งโตขึ้นไปอีก  ถึงจุดหนึ่ง  หุ้นอาจจะถูกนำไปคำนวณในดัชนีที่ใหญ่ขึ้นซึ่งก็  “บังคับ” ให้กองทุนต้องเข้าไปซื้อหุ้นที่ติดอยู่ในมุมหรือถูก Corner อยู่แล้ว  ผลก็คือ  ราคาหรือมูลค่าหุ้นก็อาจจะ “ทะลุหลุดโลก” โดยที่หาคนทำไม่เจอ

 

คำเตือนของผมก็คือ  ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นยังไงก็หนีไม่พ้นพื้นฐานที่แท้จริง  และการที่หุ้นจะตกลงมาอย่างหนักนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเมื่อ “ความจริงปรากฏ”  หุ้นเทสลาเป็นตัวอย่างที่ดี  ดังนั้น  ถ้าเป็น VI ระยะยาวที่แท้จริงแล้ว  เราก็ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง