วิกฤติตลาดหุ้นและการฟื้นตัว

29 พ.ย. 2564 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2564 | 20:04 น.
870

บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( Value Investor ) ชั้นแนวหน้า

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยตกลงมา 37.85 จุดหรือลดลง 2.3% และเป็นการปรับตัวลงแรงตามตลาดหุ้นทั่วโลกที่ลดลงมาในระดับเดียวกัน อย่างเช่นดัชนีดาวโจนส์ที่ลดลงมา 2.53% และดัชนีนิกเกอิก็ลดลงมา 2.53% เท่ากันพอดี  การลดลงในลักษณะคล้าย  ๆ  กับ  “แพนิก” หรือตกใจนั้น  นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะนักลงทุนหวั่นวิตกว่าโรคโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ที่อาจจะร้ายแรงจนวัคซีนที่มีอยู่อาจจะไม่สามารถป้องกันได้ซึ่งอาจจะทำให้ต้องปิดเมืองกันทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง  บางคนก็เสริมว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของสหรัฐอาจจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาด  ดังนั้นนักลงทุนจึงเทขายหุ้นกันจนกลายเป็นแพนิก  แต่สิ่งที่นักลงทุนกลัวจริง ๆ  นั้นน่าจะอยู่ที่ว่ามันจะนำไปสู่การตกลงของหุ้นจนอาจจะเป็นวิกฤติในช่วงต่อไปมากกว่า  เพราะเหตุผลที่หุ้นจะลดลงต่อเนื่องและรุนแรงในระดับที่เป็นวิกฤตินั้นมีอยู่แล้วนั่นก็คือ  หุ้นมีราคาปรับขึ้นไปสูงมากเป็น  “All Time High” อานิสงค์สำคัญก็คือ  สภาพคล่องทางการเงินล้นทั่วโลก  และนี่ก็ใกล้วันที่จะมีการดูดเม็ดเงินกลับซึ่งจะทำให้สภาพคล่องลดลงต่อเนื่อง  ว่าที่จริงจะมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่  โอกาสที่หุ้นจะตกหนักก็มีอยู่แล้ว  ลองมาดูประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิกฤติของตลาดหุ้นกัน

 

ผมจะใช้ตลาดหุ้นสหรัฐย้อนหลังไปประมาณ 20 ปีและเริ่มจากวิกฤติหุ้นไฮเท็คในปี 2000  ซึ่งก็ก่อให้เกิดวิกฤติไปทุกตลาดรวมถึงหุ้นในดัชนีดาวโจนส์ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นยักษ์และหุ้นในดัชนี S&P ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นหลัก ๆ ทั้งประเทศของสหรัฐ  สิ่งที่ผมพบนั้นน่าสนใจในแง่ที่ว่าวิกฤตินั้นมักจะเกิดขึ้นตอนที่ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงสุด  ตลาดหุ้นร้อนแรงแบบ  “ลุกเป็นไฟ” ซึ่งก็เป็นภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบัน  

นอกจากนั้น  ผมก็จะแสดงให้เห็นการฟื้นตัวหลังวิกฤติทุกครั้งที่ดัชนีตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นไปต่อเนื่องยาวนานจนถึง Peak หรือถึงจุดสุดยอดอีกครั้งก่อนที่จะเกิดวิกฤติตามมา  ส่วนเรื่องสาเหตุหรือเหตุผลที่ก่อให้เกิดวิกฤตินั้น  เอาแน่นอนอะไรไม่ได้  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตอนนั้น  ที่นักวิเคราะห์ก็มักจะสรุปเอาว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติหลังจากที่หุ้นถล่มลงไปแล้ว  แต่สำหรับผมเอง  ลึก ๆ  แล้ว  ผมคิดว่าบางทีสิ่งที่พูดนั้นมันคล้าย  ๆ  กับเป็น  “แพะ” ไม่ได้เป็นคนทำให้เกิดขึ้นแต่บังเอิญ “โผล่” ออกมาตอนนั้น
 

วิกฤติแรกก็คือวิกฤติหุ้นไฮเท็คนั้นเกิดขึ้นเมื่อดัชนีแนสแด็กขึ้นถึงจุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2000 ที่ประมาณ 7,651 จุด  หลังจากนั้นดัชนีก็ปรับตัวลงมาอย่างแรง  ใช้เวลาประมาณ 2 ปี 7 เดือนก่อนที่จะถึงจุดต่ำสุดในเดือนกันยายน 2002 ที่ดัชนี 1,791 จุด  และเป็นการปรับตัวลดลงถึง 77%  หุ้นไฮเท็คที่ร้อนแรงแม้แต่หุ้นอย่างอะมาซอนก็ตกลงไปกว่า 90% เป็น “หายนะ” ก่อนที่จะกลายเป็นหุ้นยักษ์ในวันนี้

 

ดัชนีหุ้น S&P หรือก็คือตลาดหุ้นโดยรวมไม่ได้ตกลงตามทันทีแต่กลับขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2000 ที่ 2,430 จุดก่อนที่จะตกลงมาอย่างแรงเป็นวิกฤติตามมาจนเหลือแค่ 1,246 จุดในเดือนกันยายน 2002 หรือลดลงถึง 48% ในช่วงเวลา 2 ปี 1 เดือน  ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ในดัชนีดาวโจนส์นั้นพีกไปก่อนตั้งแต่เดือนธันวาคม 1999 ที่ 18,890 จุด และตกลงมาต่อเนื่องจนถึง “พื้น” ที่ 11,600 จุดหรือลดลง 39% ในเดือนกันยายน 2002 ใช้เวลาในการตกลงมาประมาณ 2 ปี 9 เดือน  ข้อสรุปก็คือ  ในยามวิกฤตินั้น  หุ้น “เก็งกำไรตัวเล็ก”  ซึ่งมักจะ “โตเร็ว”   เวลาวิกฤติจะตกหนักที่สุด  หุ้นตัวใหญ่มั่นคงจะตกน้อยที่สุด  และการตกลงมานั้นมักจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี  โดยที่หุ้นทุกประเภทจะลงมาที่จุดต่ำสุดพร้อม ๆ  กันเช่นเดียวกับช่วงเวลาที่หุ้นขึ้นถึงจุดสูงสุดก็อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
 

หลังจากหุ้นทั้งหมดตกลงไปถึงพื้นในเดือนกันยายน 2002 หุ้นทุกกลุ่มก็เริ่มฟื้นตัวพร้อม ๆ  กันและดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  ดัชนีแนสแด็กปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 5 ปี 1 เดือนจนถึงเดือนตุลาคม 2007 ที่ 3,785 ซึ่งเป็นจุดสูงสุด  หรือเป็นการปรับขึ้นถึง 111% ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 15.9% ซึ่งถือว่าดีเยี่ยม  แต่แล้วหลังจากนั้นหุ้นก็ถล่มเพราะ “วิกฤติซับไพร์ม”  ดัชนี S&P ก็พีกในเดือนตุลาคม 2007 เช่นเดียวกันที่ 2,051 จุด ปรับเพิ่มขึ้นถึง 65% ในเวลา 5 ปี 1 เดือนหรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 10.3% ไม่เลวเลย  ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์นั้นพีกไปก่อนเล็กน้อยในเดือนกันยายน 2007 ที่ 18,440 จุด เพิ่มขึ้น 59% ในช่วงเวลา 5 ปีหรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้น 9.7% ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ใช้ได้เมื่อเทียบกับการเป็นบริษัทขนาดยักษ์ที่มั่นคงมากในการลงทุนสำหรับคนทั่วไป

 

วิกฤติซับไพร์มของปี 2008 นั้น  ทำให้ดัชนีแนสแด็กตกลงมาอย่างแรงและต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ดัชนีลดลงเหลือเพียง 1,795 จุด คิดเป็นการตกลงมาถึง 53% ในเวลา 1 ปี 4 เดือน   ส่วนของ S&P ดัชนีก็ตกถึงพื้นพร้อมกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ที่ 958 จุด หรือลดลง 53% เท่ากันพอดี ในช่วงเวลา 1 ปี 4 เดือนเช่นเดียวกัน  ในด้านของดาวโจนส์เองนั้น  ดัชนีตกลงมาเหลือ 9,203 จุดหรือลดลง 50% ในช่วงเวลา 1 ปี 5 เดือน  ข้อสรุปก็คือ  หุ้นใหญ่ก็ยังตกน้อยกว่าหุ้นเล็กแต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้น้อยกว่ามาก  ในขณะที่ช่วงเวลาหุ้นพีกและตกลงถึงพื้นนั้นแทบจะตรงกันหมดและลดลงเมื่อเทียบกับอดีต  นี่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าวิกฤติซับไพร์มนั้นรัฐบาลได้เข้ามาช่วยเหลืออัดสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดหุ้นมหาศาลเทียบกับวิกฤติครั้งก่อน ๆ ซึ่งทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติเร็วขึ้นและทำให้ธุรกิจและหุ้นฟื้นตัวแรงและเร็วกว่าที่ควรจะเป็นมาก

 

ดัชนีแนสแด็กปรับตัวขึ้นต่อเนื่องยาวนานหลังซับไพร์มจนถึงเดือนมกราคม ปี 2020 ที่ 9,810 จุด คิดเป็นการปรับตัวขึ้นถึง 447% ในเวลา 10 ปี 11 เดือน ให้ผลตอบแทนทบต้นถึงปีละประมาณ 16.8% และต้องเรียกว่าเป็น  “ทศวรรษทอง” ของหุ้นไฮเท็คโดยเฉพาะที่เป็นดิจิทัล   ส่วนของดัชนี S&P เองก็ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นเช่นกันและไปพีกที่เดือนธันวาคม 2019 ที่ 3,476 จุด หรือเพิ่มขึ้น 263% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 12.6%  ในช่วงเวลา 10 ปี 10 เดือน  ในเวลาเดียวกัน  ดัชนีดาวโจนส์ก็ปรับตัวขึ้นใกล้เคียงกันคือไปถึงจุดสูงสุดที่ 30,707 จุดหรือเพิ่มขึ้น 234% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 11.8% ในช่วงเวลา 10 ปี 10 เดือน  และนี่ก็เป็นการยืนยันว่าหุ้นขนาดใหญ่มักจะโตช้ากว่าหุ้นที่เล็กกว่าและ/หรือเป็นธุรกิจสมัยใหม่กว่า  ส่วนหุ้นทั้งประเทศก็จะอยู่ระหว่างกลางทั้งการตกและการขึ้นของหุ้น

 

วิกฤติที่ตามมาหลังจากหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างร้อนแรงจนเป็นจุดสูงสุดในรอบล่าสุดนี้ก็เป็นอย่างที่รู้คือ  วิกฤติโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อโลกโดยเฉพาะอเมริกาตระหนักว่ามันเป็น  “Pandemic” คือโรคนั้นร้ายแรงและติดต่อและกระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2520  ดัชนีแนสแด็กปรับตัวลดลงอย่างแรงในช่วงสั้น ๆ  30-40%  อย่างไรก็ตามถ้ามองเป็นเดือนก็พบว่าดัชนีหุ้นตกลงมาถึงพื้นในเดือนมีนาคม 2520 เหลือ 8,255 จุด หรือลดลง 16% เช่นเดียวกัน  ดัชนี S&P ลดลงเหลือ 2,771 จุด  หรือลดลง 20% และดัชนีดาวโจนส์ลดลงเหลือ 23,495 จุดหรือลดลง 23% ภายในเวลาเพียง 3 เดือน  แต่หลังจากนั้น  ด้วยมาตรการของรัฐบาลในการ “แจกเงินชดเชย” ให้กับประชาชนที่ต้องหยุดงานอยู่ที่บ้าน  ประกอบกับการพัฒนาของแพลทฟอร์มการเทรดหุ้นที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนได้อย่างสะดวกและแทบจะไม่เสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรมหาศาลในหุ้น  ตลาดก็ฟื้น  ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นอย่างแรงและเร็วมากจนไม่น่าเชื่อโดยเฉพาะหุ้นดิจิทัลซึ่งไม่ถูกกระทบเลยจากการปิดเมือง  แต่กลับได้ประโยชน์มหาศาลเมื่อคนหันมาใช้บริการของบริษัทดิจิทัลขนาดยักษ์ทั้งหลาย

 

ดัชนีหุ้นทุกตัวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและปรับตัวขึ้นเป็นสถิติสูงสุดใหม่หลังตกลงมาถึงพื้นในเดือนมีนาคม 2020 เฉพาะอย่างยิ่งดัชนีแนสแด็กปรับขึ้นเป็น 15,845 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2021 คิดเป็นการเพิ่มถึง 92% ในเวลา 1 ปีกับ 7 เดือน  ดัชนี S&P ขึ้นไปเป็น 4,605 จุดหรือเพิ่มขึ้น 66% ในเวลา 1 ปี 7 เดือน  และดาวโจนส์ถึงจุดพีกในเดือนตุลาคม 2021 ที่ 35,820 จุดในช่วงเวลาเดียวกัน  นี่เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นสั้นมากและฟื้นตัวเร็วมากที่สุดในประวัติศาสตร์จนแทบจะไม่เห็นเลยในเส้นกราฟที่ยาวนานหลายสิบปี  ประเด็นก็คือ   เป็นไปได้ไหมว่า “วิกฤติจริง” อาจจะใกล้เกิดขึ้นอีกรอบหนึ่ง  และรอบนี้ก็อาจจะมีแพทเทิร์นหรือรูปแบบที่มักจะเกิดขึ้นในอดีตที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจริงและใช้เวลาหลายปีก่อนที่จะฟื้นกลับมาใหม่และเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี  เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์  และเมื่อเกิดขึ้น  จะเป็นอย่างเดิมไหมที่หุ้นโตเร็วแบบหุ้นดิจิทัลยุคใหม่จะตกหนักที่สุด