สมรภูมิ ( หุ้น ) เวียดนาม

15 พ.ย. 2564 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2564 | 19:05 น.
644

บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า โลกในมุมมองของ Value Investor

ตั้งแต่เป็น VI “ผู้มุ่งมั่น” มาหลายสิบปี  เวลาผมคิดทำอะไรโดยเฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญหรือเป็น “ยุทธศาสตร์ของชีวิต” ที่ต้อง “ต่อสู้” เพื่อที่จะ “ชนะ” เช่นเรื่องของการลงทุนนั้น  ผมจะคิดคล้าย ๆ  กับว่าเรากำลัง “เข้าสู่สงคราม” ซึ่งจะต้องวางกลยุทธ์ที่ดีและถูกต้อง  เพราะนั่นจะทำให้เรามีโอกาส “ชนะ” สูงขึ้น  ถ้าคิดและประเมินว่าการเข้าไปรบในสมรภูมิที่กำหนดแล้วมีโอกาสที่จะแพ้สูง  โดยปกติผมก็จะหลีกเลี่ยง  การประเมินนั้นก็ต้องดูว่าสนามรบนั้นเป็นอย่างไร  เรามีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน  เราจะต้องทำหรือ “รบ” อย่างไรที่จะทำให้เราได้เปรียบและได้ชัยชนะในที่สุด  การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาโดยใช้หลักการลงทุนแบบ “VI” ที่เน้นลงทุนระยะยาวในหุ้นซุปเปอร์สต็อกสำหรับผมก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จดีมากอย่างไม่น่าเชื่อจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้หรือประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา  ในวันนั้นผมเริ่มรู้สึกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็เริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ  เฉพาะอย่างยิ่ง  “สนามรบ” เริ่มจะไม่เอื้ออำนวยให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้เหมือนเดิม  ผมจึงเริ่มไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม

 

การ “รณรงค์” ในสนามรบ “เวียดนาม” ของผมนั้น  ผมเริ่มลงทุนตั้งแต่กลางปี 2557 หรือประมาณ 7 ปีมาแล้ว  ด้วยเม็ดเงินเพียงประมาณ 4-5% ของพอร์ต  โดยที่วันนั้นดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามอยู่ที่ประมาณ 600 จุด และเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นยัง “ซบเซา” ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์น่าจะแค่วันละ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น  แต่ภาวะเศรษฐกิจและการเงินของเวียดนามกำลังมีเสถียรภาพดีขึ้นอย่างมาก  เศรษฐกิจโตเร็วระดับ 5-7% อย่างที่เคยโตมาตลอดเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว  แต่อัตราเงินเฟ้อและค่าเงินที่เคยสูงและผันผวนมากได้ลดลงมาเป็น  “ปกติ” แล้ว อย่างไรก็ตาม  การเคลื่อนไหวของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่เวียดนามก็ยังไม่ได้สูงนัก  

 

 

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ก่อนหน้านั้นนักลงทุนต่างประเทศก็มักจะกลัวว่าค่าเงินด่องจะลดลงหนักและการถอนเงินออกก็ไม่ง่ายจึงไม่อยากมาลงทุน  กล่าวโดยสรุปก็คือ  ระบบเศรษฐกิจและการเงินของเวียดนามนั้นพร้อมแล้วที่จะก้าวไปข้างหน้าและต่อสู้กับประเทศอื่นทั้งโลก

 

กลยุทธ์การลงทุนของผมนั้น  เนื่องจากผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนเลย รวมถึงไม่มีกองทุนรวมอิงดัชนีให้ซื้อลงทุนได้อย่างสะดวก  ผมจึงใช้วิธี “ตะแกรงร่อนหุ้น” เลือกหุ้นที่เป็น Value หรือหุ้นที่ถูกมาก  โดยมีเงื่อนไขคร่าว ๆ ว่าจะต้องมีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า  ค่า PB ไม่เกิน 1 เท่า  ปันผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี  และต้องมี Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 3-500 ล้านบาทขึ้นไปถ้าผมจำไม่ผิด  เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าจะสามารถซื้อหุ้นแต่ละตัวได้ในปริมาณที่ต้องการ  ผลปรากฏว่ามีหุ้นที่ผมซื้อถึงกว่า 100 ตัวจากหุ้นทั้งตลาดจำนวนประมาณ 6-700 ตัว  นั่นก็เป็นการแสดงว่าหุ้นในตลาดเวียดนามตอนนั้นน่าจะมีราคาถูกมากโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก  ผมใช้เวลาน่าจะประมาณ 5-6 เดือนกว่าจะซื้อจนครบ

 

ปี  2558 ทั้งปีนั้นเป็นปีที่ตลาดหุ้นเวียดนาม “นิ่งสนิท” ดัชนีไม่ไปไหนเลย  หุ้นที่ผมลงทุนนั้นก็ไม่ได้ขยับไปไหน  ปี 2559 ดัชนีตลาดเริ่มปรับตัวขึ้นไปจาก 550 เป็น 680 หรือขึ้นไปประมาณ 23% ผมเริ่มเติมเงินเข้าไปบ้างทำให้พอร์ตโตขึ้นเป็นประมาณ 6% คิดจากเงินลงทุน  แต่ขนาดของพอร์ตตามราคาตลาดเป็นเท่าไรผมก็ยังไม่เคยคิด  เหตุผลก็เพราะว่าผม “ไม่ได้ติดตาม” ว่าที่จริงถึงจะมีข้อมูล  ผมก็ไม่รู้ว่าถ้าจะขายหุ้นจริง ๆ  จะขายได้ไหม เพราะหุ้นเกือบทั้งหมดเป็นหุ้นตัวเล็กมากที่แทบไม่มีสภาพคล่อง  ขายไปหุ้นก็คงจะตกลงมามาก  ผมเริ่มตระหนักว่า  กลยุทธ์การซื้อหุ้นแบบ “เหวี่ยงแห” ที่มีคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Joel Greenblatt เคยศึกษาและพบว่าการใช้สูตร “Magic Formula” แบบที่ผมทำให้ผลตอบแทนดีมากนั้น  

อาจจะใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  ไม่สามารถขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตได้ทุกปี

 

ปี 2560 หุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นไปเป็นเกือบ 1,000 จุด หรือกว่า 40% ในช่วงปีนี้ผมเห็นว่าตลาดหุ้นเวียดนามคงจะเริ่มบูมอานิสงส์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ  ผมจึงเริ่มเติมเงินลงทุนเข้าไปอีก  โดยเงินใหม่นี้ผมเริ่มใช้วิธีเลือกหุ้นลงทุนเองเป็นรายตัวแบบ VI พอถึงสิ้นปี  เงินที่ลงไปรวมแล้วประมาณ 9% ของพอร์ตทั้งหมดของผม  

 

ขึ้นปี 2561  ดัชนีเวียดนามปรับตัวขึ้นต่อจนถึงประมาณ 1,200 จุด  และเป็นจุดสูงสุดใหม่ในเดือนมีนาคมก่อนที่จะตกลงมาอย่างแรงเหลือเพียงประมาณ 900 จุดในตอนสิ้นปี  และหลังจากนั้นในปี 2562  ดัชนีเวียดนามก็ทรง ๆ  อยู่ในระดับนี้  โดยสรุป ปี 2561และ 2562 ผมไม่ได้ทำอะไรเลย  และพอขึ้นปี 2563  ก็เกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนักในเดือนมีนาคมและดีดตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2-3 เดือน ก่อนที่จะวิ่งขึ้นไปต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ที่ดัชนีขึ้นไปที่ 1,100 จุด  เท่ากับว่าโควิด-19 ไม่มีผลอะไรกับดัชนี  เพราะมันปรับตัวขึ้นทำให้ผลตอบแทนของปี 2563 บวกอยู่ประมาณ 14%  สิ้นปีนี้ผมเริ่มนำผลการลงทุนในเวียดนามมาคิดรวมกับผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยทำให้พอร์ตเวียดนามคิดเป็นประมาณ 15% ของพอร์ตโดยรวม   ผมคิดว่าได้เวลาแล้วที่การลงทุนจากต่างประเทศควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนปกติ  โลกการลงทุนกำลังเปลี่ยนไป  หมดสมัยแล้วที่การลงทุนจะคิดแต่เฉพาะในประเทศไทย   คำนวณดูแล้วปรากฏว่า  การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้ผลตอบแทนประมาณ 35% หรือได้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 5% ไม่ดีเลย  แต่ก็ยังดีกว่าตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีไม่ไปไหนเลยในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ปี 2564  ผมได้เพิ่มเงินลงทุนในพอร์ตเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง  และเมื่อคิดรวมกับการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเดิม  ทำให้พอร์ตเวียดนามมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 25% ของพอร์ตทั้งหมด  ราคาหุ้นทั้งของเดิมที่เป็นหุ้นขนาดเล็กราคาถูกจำนวนเป็นร้อยตัว  และหุ้นขนาดใหญ่แนวซุปเปอร์สต็อกทั้งที่เลือกเองและซื้อกองทุนรวมหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่เริ่มมีแพร่หลายในตลาดหุ้นเวียดนามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างมโหฬารพอ ๆ  กัน ที่ประมาณ 70% นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ตามดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 46% และเป็นตลาดที่ปรับตัวดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

 

ถ้ามองย้อนหลังกลับไป 7 ปีตั้งแต่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม  ผลตอบแทนรวมของการลงทุนของผมขึ้นไปกว่า 100% และเมื่อคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นก็อยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปีก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนที่น่าพอใจโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่น่าจะได้เฉพาะปันผลที่ประมาณปีละ 3% และดังนั้นก็ถือว่าได้ชัยชนะในสมรภูมิหุ้นเวียตนามสำหรับผมแม้จะยังเทียบไม่ได้เลยกับช่วงเวลาที่ผมลงทุนในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในช่วงประมาณ 20 ปีแรก  อย่างไรก็ตาม  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าความรู้ในตลาดหุ้นเวียดนามของผมยังจำกัดมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย

 

บทเรียนการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามของผมถึงจุดนี้ก็คือ

 

1)    ตลาดหุ้นไม่ว่าจะดีหรือโดดเด่นแค่ไหนในระยะยาว  ก็มีช่วงเวลาที่เลวร้ายและเวลาที่แน่นิ่งไม่ไปไหน  ลงทุนไปแล้วอย่าคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือดีมากทันที  ว่าที่จริงถ้าเข้าช่วงที่ร้อนแรงก็อาจจะผิดหวังได้มากกว่าเวลาที่เลวร้ายหรือเวลาที่หุ้นไม่ไปไหนมาหลายปี

 

2)    การเลือกหุ้นลงทุนนั้น  ถ้าเรายึดกับประวัติศาสตร์หรือการศึกษาจากประสบการณ์ที่ยาวนาน  ว่าหุ้นประเภทไหนจะเป็น “ผู้ชนะ”  โอกาสก็เป็นไปได้ว่าวิธีนั้นก็เป็นวิธีที่ชนะในระยะยาว  ตัวอย่างก็คือการเลือกหุ้นราคาถูกมากแบบ Magic Formula ซึ่งผมใช้  ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดได้  ก็ยังให้ผลลัพธ์ที่ดี

 

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้น  คล้ายคลึงกับของไทยมากเพียงแต่เวียดนามมีขั้นของการพัฒนาตามหลังไทยอยู่ประมาณน่าจะซัก 20 ปีหรืออาจจะน้อยกว่านั้นถ้าไทย “หยุด” อย่างรวดเร็วมาก  ดังนั้น  ตลาดหุ้นของเวียดนามก็น่าจะมีพฤติกรรมและการเติบโตของดัชนีคล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยในอดีต  ดังนั้น  เวลาจะลงทุนหุ้นแต่ละตัวหรือในแต่ละอุตสาหกรรมจึงควรคำนึงถึงความจริงข้อนี้  ตัวอย่างเช่น  หุ้นที่ร้อนแรงและมี Market Cap. สูงมากในปัจจุบันของเวียดนามคือหุ้นอสังหา  หุ้นโบรกเกอร์  หุ้นแบงก์  หุ้นเหล็ก เป็นต้น  แต่หุ้นเหล่านี้ในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันก็หมดยุคไปแล้ว  ดังนั้นถ้าจะลงทุนระยะยาวก็ต้องระวังด้วย