แบล็คมันเดย์...ดอยทั้งตลาดฯ

05 ก.พ. 2568 | 06:00 น.

แบล็คมันเดย์...ดอยทั้งตลาดฯ : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจ

*** หลังจากในวันจันทร์ที่ 3 ก.พ. 68 นักลงทุนหลายคนขนานนามว่าเป็น “แบล็คมันเดย์” เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเปิดการซื้อขายก็ปรับลดลงทันทีกว่า -43 จุด ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีหลังยุคการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เจ๊เมาธ์ได้รับรู้ถึงสัจธรรมที่ว่าการ “ดอยทั้งตลาดฯ” เป็นอย่างไร ...ทำไมทั้งที่ติดดอยอยู่แบบนี้ถึง “ยอมมอบตัว” ด้วยการขายขาดทุนกันง่ายๆ เช่นนี้!!!

อย่างแรก ถ้าจะว่ากันถึงปัจจัยในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้นเทคฯ ระดับ 7 นางฟ้า ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดตัวของ AI “เอื้ออาทร” อย่าง Deepseek จากค่ายจีน เรื่องนี้ก็ได้เห็นผลผ่านไปแล้วกว่าสัปดาห์ หรือ ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะมาตรการเก็บภาษีแคนาดา และ เม็กซิโก ขึ้นอีก 25% ส่วนจีนจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10% จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรงหรือไม่ ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

แน่นอน...จะไปโทษว่า ตลาดหุ้นสหรัฐ “สับขาหลอก” ก็ไม่ได้ เนื่องจากตัวเลขดาวโจนส์ฟิวเจอร์ (Dow Jones Futures) ที่โชว์ตัวเลขติดลบกว่า -600 ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยกำลังเปิดการซื้อขายนานถึง 5 ชั่วโมง เป็นเพียงตัวเลขอ้างอิงก่อนเปิดทำการ ของตลาดหุ้นสหรัฐ แต่

เมื่อ เม็กซิโก “ยอมจำนน” ต่อมาตรการขึ้นภาษีที่ว่า ก็ส่งผลให้ดัชนีหุ้น Dow Jones ที่ทำทรงว่า จะร่วงหนัก กลับปิดตลาดลงไปเพียง -122.75 จุด ในขณะที่ราคาทองที่ปรับขึ้นไปสูง ก็ปรับราคาลง ราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ถูกทิ้งก็กลับมีแรงซื้อกลับคืนมา

สรุปก็คือ ตลาดหุ้นไทยร่วมถึงตลาดหุ้นอื่นๆ เป็นเพียง “กระต่ายน้อยที่ตื่นตูม” เพราะถูกตลาดหุ้นสหรัฐ “สับขาหลอก” ก็น่าจะเรียกได้

ส่วนเรื่องที่สอง ซึ่งเจ๊เมาธ์มองว่าสำคัญที่สุด กลับเป็นปัญหาที่มาจากการที่ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยเด่น ขาดแรงดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา รวมไปถึง “สะสม” แต่ปัจจัยลบจนล้นเอาไว้หลายปี ส่งผลให้นักลงทุนเก่าๆ เริ่มที่จะหาทางถอย เพราะขาดทุนจนหมดตัว หรือ หมดทุน เพราะ “ถัว” จนไม่รู้ว่าจะต้องถัวกันอีกสักเท่าไหร่ 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเชื่อมั่นที่หดหาย เพราะมีแค่มาตรการ “ตามควาย” แต่ไม่ค่อยจะมีมาตรการ “ล้อมคอก” อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมออกมาจากผู้คุมกติกา (Regulator) ของตลาดหุ้นไทยออกมาเลย 

ท้ายที่สุด ตลาดหุ้นไทยก็เปิดเผยจุดอ่อนให้เห็น หลังจากสารพัดปัจจัยลบรุมเร้ามานาน จนเมื่อมี “ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้” เข้ามากระทบก็ทำให้นักลงทุนไทยกระโดดหนีจน “แข้งขาหัก” ทั้งที่ยังไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนอย่างที่เห็น...

ถึงตอนนี้เจ๊เมาธ์ก็ได้แค่หวังและให้กำลังใจว่า ผู้คุมกติกา (Regulator) รวมไปถึงภาครัฐที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือ จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกมาได้ เพราะหากไม่มีอะไรใหม่...ก็บอกได้ว่าอีกไม่นานพังกันทั้งตลาดแน่นอนค่ะ

*** บอกตรงๆ เจ๊เมาธ์พอที่จะเข้าใจและเห็นใจ CPALL ในกรณีที่ครอบครัวที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Seven & I (Seven & I holdings Co.Ltd) ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ชักชวน CPALL ในนามของ Charoen Pokphand Group (CP) มาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนเข้าซื้อกิจการโดยผู้บริหาร (management buyout) เพื่อป้องกันการฮุบกิจการ จากฝั่งของ Alimentation Couche-Tard หรือ Couche-Tard บริษัทค้าปลีกสัญชาติแคนาดา 

เพราะหากว่า  Seven & I ถูกซื้อไปแล้ว อาจเป็นเหตุให้ร้านสะดวกซื้อในชื่อของ 7-11 ทั่วโลก อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นซึ่งอาจส่งผลกระทบกับ 7-11 ที่อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของเครื่อง CP ก็เป็นไปได้...
แต่ก็อย่างว่า...เรื่องที่เจ๊เมาธ์บอกว่า เข้าใจ ก็เป็นคนละส่วนกันกับเรื่องของธุรกิจ!!!

ส่วนหนึ่ง... เป็นเพราะว่าด้วยลักษณะของบริษัทเครือ “เจ้าสัว” ที่บอกเลยว่า เล่นด้วยยากกกก!! เพราะนอกจากปันผลที่น้อยมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้น ก็ยังมีเรื่องที่ราคาหุ้น แทบจะไม่ขยับไปไหนไกลตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างที่สอง... อย่าได้ลืมไปว่าแทบจะทุกครั้งที่ CP เริ่มมีกำไรสะสมในมือ ก็จะมีการผ่องถ่ายออกไปสู่ธุรกิจอื่นในเครือ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อ MAKRO ในรูปแบบที่วนกันไปมาในกลุ่ม จนท้ายที่สุดก็จบลงที่การเพิ่มทุนเอากับผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่กรณีล่าสุดที่เข้าไปลงทุนต่อยอดธุรกิจในโครงการ “The Happitat” ก็อื้ออึงกันพอสมควรในตลาดทุน 

หากทาง CP ตัดสินใจเข้าไปร่วมซื้อ Seven & I ก็มีความเป็นไปได้ ที่อาจจะตามมาด้วยการเพิ่มทุนเอากับผู้ถือหุ้นอีกรอบในท้ายที่สุด

ส่วนที่ว่าจะเป็นอย่างไร ...แค่ไหน อีกไม่นานก็คงจะได้รู้กันแล้วเจ้าค่ะ